Beer RSS
ข่าวดีของสายสังคม: การออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงนั้นดีต่อใจ
ดูเขาดูเรา? : สรุปความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ในอเมริกาในปี 2016
การเดินทางไกลของเบียร์ IPA
ภาพจาก kickstarter เบียร์เป็นหนึ่งในบรรดาเครื่องดื่มที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน ดังนั้นเราจึงพบว่าเบียร์เข้าไปเกี่ยวพันกับพัฒนาการของสังคมโลกอย่างลึกซึ้งและหลายครั้งก็มีบทบาทที่น่าสนใจในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เบียร์จึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่า และหนึ่งในประเภทของเบียร์ที่มีเรื่องเล่ามากที่สุดก็เบียร์อินเดียเพลเอลหรือ IPA (ไอพีเอ) นั่นเอง พูดถึงเบียร์สุดฮิตชนิดนี้เราก็ได้เคยพูดถึงลักษณะทั่วไปและต้นกำเนิดคร่าวๆ ไปแล้วในหลายโอกาส วันนี้เราลองมาทำความรู้จักพื้นเพประวัติความเป็นมาของมันให้ลึกลงไปกว่าเดิมกันเถอะ เบียร์ไอพีเอเป็นหนึ่งในมรดกตกทอดจากยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ และหากเรามองย้อนกลับไปในอดีตก็จะพบว่านี่คือหนึ่งในประเภทของเบียร์ที่เคยรุ่งโรจน์และได้รับความนิยมอย่างมากในหลายมุมโลก ก่อนที่คลื่นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเทคโนโลยีและกฎระเบียบต่างๆ จะถาโถมซัดกระหน่ำและทำให้เบียร์แบบลาเกอร์มีโอกาสก้าวขึ้นสู่บัลลังก์เดียวกันนั้น จนกระทั่งทุกวันนี้เมื่อความเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่งและปัจจัยต่างๆ ก็กลับมาประจวบเหมาะอีกครั้งครา เบียร์ไอพีเอจึงได้หวนกลับมามีพื้นที่อันโดดเด่นในวงการเบียร์ทั่วโลกอย่างที่เราได้เห็นกัน เริ่มออกจากฝั่ง ภาพจาก thepregrinatingpenguin ราวศตวรรษที่ 18 บรรดาเจ้าหน้าที่และนักเดินเรือของบริษัทการค้า “บริติชอีสต์อินเดีย” ซึ่งนำเข้าสินค้าจำพวกเครื่องเทศและเครื่องนุ่งห่มจากอินเดียมูลค่ามหาศาลและมีกองเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น พบว่าการเดินเรือในเที่ยวขาออกจากสหราชอาณาจักรซึ่งเรือยังบรรทุกสิ่งของไปไม่มากนักคือโอกาสอันดีของพวกเขาในการนำเอาสินค้านานาชนิดติดออกไปค้าขายยังปลายทาง และในเวลาต่อมาการเดินทางข้ามทวีปอันยาวนานก็ได้ส่งผลให้พ่อค้าชาวเรือผู้เบื่อหน่าย เริ่มขนสินค้าที่สามารถใช้เป็นเสบียงชั้นเลิศสำหรับช่วงเวลาพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วยไปอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแฮม เนยแข็ง เครื่องดื่ม (ทั้งที่หาได้จากบ้านเกิดและจุดแวะพักต่างๆ) ถ้วยชามรามไหและเครื่องแก้วหลากชนิด เมื่อได้รับความจรรโลงใจเป็นอย่างดี การค้าขายก็ดำเนินไปด้วยความราบรื่น กระทั่งเกิดโอกาสดีๆ สำหรับธุรกิจใหม่มากมายและโรงเบียร์ Bow Brewery ของ George Hodgson ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถคว้ามันเอาไว้ได้ หนึ่งในปัจจัยที่เอื้อให้ Hodgson ก้าวสู่จุดนั้นได้ก็คือที่ตั้งของโรงเบียร์ซึ่งอยู่ใกล้กันกับสำนักงานใหญ่ของบริษัทอีสต์อินเดียนั่นเอง ความใกล้ชิดเช่นนั้นทำให้เขามีจังหวะเหมาะมากมายที่จะเลียบๆ เคียงๆ ขายเบียร์แก่นักเดินเรือที่กำลังพักผ่อนในบาร์ละแวกชุมชน โดยในช่วงเริ่มต้นเขามีข้อเสนอที่น่าทึ่งอย่างมากคือการให้เครดิตเทอมยาวนานถึงขนาดรอบไปกลับของเรือซึ่งบางคราวกินระยะเวลาเกินขวบปีเลยทีเดียว ในเวลานั้น มีการส่งออกเบียร์ไปยังประเทศอินเดียอยู่ก่อนแล้ว หากแต่เบียร์ที่ได้รับความนิยมในหมู่ทหารซึ่งประจำการอยู่ที่นั่นคือเบียร์พอร์เตอร์ซึ่งไม่ค่อยถูกปากพ่อค้าผู้มั่งคั่งที่มักจะมองหารสชาติที่ละเลียดละไมมากกว่านั้น แต่เบียร์ของ Hodgson ตอบโจทย์นี้ได้ เบียร์ที่เขาส่งออกไปนั้นคือเบียร์เพลเอล หรือที่เข้าใจกันในเวลานั้นว่าเป็นเบียร์เอลอังกฤษ (หรือเรียกอีกอย่างว่า “บิตเตอร์”) สีอ่อนจางซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมล่าสุดอย่างหนึ่งในสมัยนั้น เพลเอล และมอลต์สีจางผู้มาพร้อมกับเทคโนโลยี ภาพจาก johnmhenderson ความสำเร็จของการพัฒนาถ่านโค้กในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในด้านการผลิตอย่างมาก และการทำมอลต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น การเผาไหม้ที่หมดจดยิ่งขึ้นของถ่านโค้กช่วยให้มอลต์ที่ออกมามีสีจางลงและมีรสที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตก็มีเสถียรภาพสูงขึ้นด้วย เบียร์จากมอลต์แบบใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นนี้มีลักษณะที่ถูกใจคอเบียร์ผู้มีอันจะกินในเวลานั้นมากกว่าเบียร์รสออกหวานสีเข้มที่ชาวบ้านร้านตลาดนิยมกัน เพลเอลของ Hodgson เป็นเบียร์ที่ใส่ดอกฮอปส์ปริมาณมากเนื่องจากคุณสมบัติในการถนอมอาหารของพืชชนิดนี้ช่วยให้เบียร์ยังคงมีลักษณะที่ดีพอสมควรเมื่อผ่านการข้ามน้ำข้ามทะเลที่ยาวนานไปถึงปลายทาง แม้กระทั่งเบียร์บางส่วนที่เกิดติดเชื้อขึ้นก็ยังพอขายได้เพราะกลิ่นฮอปส์ที่จัดจ้านช่วยกลบเกลื่อนความเปรี้ยวที่เกิดขึ้นไว้นั่นเอง อันที่จริงนักดื่มในยุคนั้นต่างมีความเชื่อกันด้วยซ้ำไปว่าเบียร์ที่เต็มไปด้วยดอกฮอปส์แบบนั้นจะมีรสที่กลมกล่อมขึ้นเมื่อได้ใช้เวลาบ่มตัวเองท่ามกลางคลื่นน้อยใหญ่และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปมาในระหว่างการเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปไปยังอ่าวเบงกอล ยุคสมัยแห่งการตื่นไอพีเอ ภาพจาก americancraftbeer กิจการโรงเบียร์ของ Hodgson ดำเนินไปอย่างงดงามจนกระทั่งเขาเกือบมีสถานะเป็นผู้ผูกขาดตลาดภายใต้น้ำเมาราคาถูกและเครดิตเทอมที่ยาวนานตรงใจชาวเรือ แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงก็มาเยือนเมื่อเขาตัดสินใจก้าวลงสนามแข่งโดยการลดทอนเครดิตเทอมที่เคยให้แก่นักเดินเรือเหล่านั้นลง และเริ่มส่งออกเบียร์ด้วยกองเรือของตนเองแทน บริษัทอีสต์อินเดียไม่ค่อยพอใจต่อสถานการณ์เช่นนี้นัก และในที่สุดก็ได้เข้าเจรจากับนักทำเบียร์มือดีจาก Burton-on-Trent คนหนึ่ง นามว่า Samuel Allsop...