ดูเขาดูเรา? : สรุปความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ในอเมริกาในปี 2016
ภาพจาก tapathumboldt
พวกเราคงพอทราบกันอยู่แล้วว่า สหรัฐอเมริกานั้นเป็นเสมือนกับศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของกระแสคราฟต์เบียร์ในโลกร่วมสมัยที่กำลังขับเคลื่อนไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน
วันนี้เรามาดูกันว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของคราฟต์เบียร์ที่นั่นเป็นอย่างไรกันบ้าง เติบโตก้าวหน้าไปเพียงใด
Brewers Association ผู้กำกับดูแลและสนับสนุนผู้ผลิตเบียร์รายย่อยและนักทำเบียร์อิสระได้เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า ขณะนี้มีโรงเบียร์ถึง 5,005 โรงแล้วในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนี่คือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ภาพจาก brewersassociation
อันที่จริงจำนวนผู้ผลิตเบียร์ในอเมริกานั้นก็ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างทะลุทะลวงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ย้อนกลับไปในช่วงปี 1980 ที่เบียร์เจ้าตลาดยังครองพื้นที่เกือบทั้งหมดและกระแสคราฟต์เบียร์ยังไม่เฟื่องฟูมากนัก สหรัฐอเมริกาก็มีโรงเบียร์อยู่เพียงไม่ถึง 100 โรงเท่านั้น อย่างไรก็ตามคลื่นแห่งคราฟต์เบียร์ก็ซัดกระหน่ำและเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมไปอย่างมากมาย ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2008 ประเทศนี้ก็มีโรงเบียร์จำนวนกว่า 2,500 แห่งแล้ว ผ่านไปเพียงไม่ถึงทศวรรษหลังจากนั้น ราวต้นปี 2015 ก็มีโรงเบียร์จำนวนมากถึง 3,500 โรง ที่เปิดทำการและกาลเวลาล่วงเลยไปเพียงไม่กี่เดือนให้หลัง ก่อนสิ้นปีเดียวกันนั้นอเมริกามีโรงผลิตเบียร์ทั่วประเทศ 4,131 ราย กล่าวคือมากขึ้นกว่า 600 รายกันเลยทีเดียว ชวนฝันไหมเล่าพี่น้อง!
ตัวเลข 4,131 นี้มีความสำคัญ ตรงที่มันเป็นจำนวนโรงเบียร์ซึ่งมากที่สุดตลอดประวัติศาสตร์อเมริกันเป็นสถิติของปี 1873ซึ่งก็คือก่อนยุค Prohibition ที่ห้ามการค้าสุราและยุคแห่งการควบรวมธุรกิจที่ตามมาภายหลังดังนั้นเมื่ออเมริกากลับมามีโรงเบียร์จำนวนมากกว่าสถิตินี้ได้แล้ว คำว่า “ยุคทองของคราฟต์เบียร์” จึงได้รับการกล่าวขานกันทั่วไปในสื่อต่างๆ
ในภาพรวม อุตสหกรรมคราฟต์เบียร์นั้นเติบโตช้าลง โดยขยายขึ้นเพียง 6% ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยลงมากเมื่อเทียบกับการเติบโต 22% ในปี 2014
สภาวะข้างต้นนี้ทำให้หลายคนกังวลว่าตลาดคราฟต์เบียร์กำลังเติบโตถึงจุดสูงสุดและอิ่มตัวแล้ว อย่างไรก็ตามความกังวลนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2013 ขณะที่อเมริกายังมีโรงเบียร์จำนวน “เพียงแค่”2,500 โรง เท่านั้นเอง
แม้ว่าตลาดคราฟต์เบียร์ในสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในช่วงเจริญเต็มที่แล้ว แต่ตลาดยังไม่ได้อยู่ในภาวะอิ่มตัวแต่อย่างใด การเติบโตเพิ่มขึ้นยังคงมีอยู่ต่อไป และอัตราที่ช้าลงนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาของอุตสาหกรรมที่เติบโตถึงจุดหนึ่ง
ภาพจาก craftgrowlerstogo
ตัวเลขเหล่านี้อาจน่าทึ่งมากๆ สำหรับพวกเราคอเบียร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่รู้หรือไม่ว่าสำหรับผู้คนในแวดวงคราฟต์เบียร์อเมริกัน นี่ยังไม่ใช่ที่สุดและยังห่างไกลด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างมุมมองของหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Brewers Association ซึ่งชี้ว่า สถานการณ์ของคราฟต์เบียร์ในอเมริกา “ยังดีได้อีกมาก” โดยเขาลองเทียบอัตราส่วนระหว่างโรงเบียร์กับจำนวนประชากรดู เมื่อปี 2013 เขาพบว่าในเยอรมนีมีโรงเบียร์อยู่ 1,300 โรง ทั้งที่จำนวนประชากรนั้นต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างมากมาย และหากว่าอเมริกาต้องการมีจำนวนโรงเบียร์ต่อจำนวนประชากรเท่ากันกับเยอรมนีในเวลานั้น จะต้องมีโรงเบียร์จำนวน 5,000 แห่งเกิดขึ้นแล้ว
แม้ปีที่ผ่านมาจะจบลงด้วยการเติบโตอย่างน่าประทับใจของอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์อเมริกัน แต่กระแสนี้ยังคงมุ่งหน้าเติบโตต่อไปได้อีกอย่างแน่นอน เพราะแม้ว่าจะลองเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีตดู อเมริกาก็ยังคงมีอัตราส่วนจำนวนโรงเบียร์กับหัวประชากรไม่ใกล้เคียงกับเมื่อราวกลางทศวรรษที่ 1870 ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ โรงเบียร์ 1 แห่งต่อจำนวนประชากร 11,000 คนเลยด้วยซ้ำไป เพราะจำนวนโรงเบียร์ที่อเมริกาต้องการสำหรับประชากร 325 ล้านคนในปัจจุบัน เพื่อให้เทียบเท่าอัตราส่วนในอดีตซึ่งหมายถึงความหลากหลายและทั่วถึงอย่างเข้มข้นได้นั้นก็คือ 33,000 แห่งเลยทีเดียว
ภาพจาก brewersassociation
เป็นยังไงกันบ้าง? ในปี 2017 นี้ แวดวงคราฟต์เบียร์อเมริกันกำลังเปรยถึงโรงเบียร์อิสระจำนวน 33,000 แห่งทั่วประเทศกันแล้ว
ฟังแล้วใจเราสั่นเลย แต่สั่นสู้นะ J
หันกลับมามองบ้านเราแล้วก็พบว่าสถานการณ์นั้นต่างกันลิบลับ แต่จะว่าสิ้นหวังก็ไม่ถูกต้อง เพราะปีที่ผ่านมาก็มีเบียร์นับ 10 ยี่ห้อที่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคร้อยแปดพันประการมาได้ และทำให้คอเบียร์ในประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิมตั้งมากมาย แสงสว่างยังมีจริงไหมล่ะ
ภาพจาก businessinsider
ในปีนี้ พวกเราก็มาร่วมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนกระแสนี้สามารถไปต่อได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนกันเหมือนเคยนะ สู้ๆ J
เรียบเรียงและดัดแปลงจาก Fortune