รู้จัก “มอลต์” ให้มากขึ้นอีกนิด

รู้จัก “มอลต์” ให้มากขึ้นอีกนิด

ภาพจาก todayifoundout.com

 

ปัจจุบันนี้ในโลกออนไลน์มีบทความที่น่าสนใจถูกเผยแพร่ออกไปอย่างมากมายเกี่ยวกับเรื่องเบียร์ และหลายคนคงได้มีโอกาสผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อยแล้วว่า หนึ่งในวัตถุดิบหลักของการผลิตเบียร์สุดที่รักของเรา ก็คือมอลต์

ปัญหาก็คือแม้กระนั้น ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ดื่มเบียร์ (และเหล้า) อยู่เป็นประจำโดยที่นึกไม่ออกว่ามอลต์คืออะไร มีหน้าตาอย่างไร บ้างก็คิดว่าคงจะมีลักษณะเหมือนกับรวงข้าวเพราะเห็นจากในภาพโฆษณา บ้างก็นึกถึงเครื่องดื่มรสช็อกโกแลตที่ทำจากมอลต์เช่นกันแต่ก็ไม่มั่นใจว่ามอลต์คือชนิดของธัญพืชหรืออะไรกันแน่ และเนื่องจากความเป็น “นักดื่ม” ที่ตระเวนดื่มไปทั่วทุกสารทิศมาค้ำคออันแข็งแกร่งอยู่ ความปากหนักจึงบังเกิด และในที่สุดความสงสัยนี้ก็กลายเป็นเรื่องลี้ลับต่อไป

ภาพจาก leeners.com

 

หากกล่าวอย่างรวบรัดแล้ว มอลต์ก็คือผลผลิตจากกระบวนการอย่างหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกับการทำข้าวกล้องงอก หากแต่แทนที่จะสีข้าวและนำไปแช่น้ำให้งอกราก ก็แช่ทั้งเปลือกจนงอกก่อน จากนั้นจึงนำไปสีและคั่ว (หรืออบแห้ง) นั่นเอง มอลต์นั้นสามารถผลิตขึ้นได้จากธัญพืชหลากหลายชนิด เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต เป็นต้น แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแวดวงเบียร์ก็คือข้าวบาร์เลย์นั่นเอง เนื่องจากความเหมาะสมตามธรรมชาติของข้าวชนิดนี้ซึ่งอุดมไปด้วยเอนไซม์ที่จะช่วยย่อยแป้ง และเปลือกที่แข็งทนทานซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อราขึ้นบนเมล็ดธัญพืชในระหว่างกระบวนการทำมอลต์

โดยทั่วไปแล้ว ในหมู่คนทำเบียร์ เมื่อพูดถึงมอลต์แล้ว จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ 1. มอลต์ตั้งต้น (Based Malt) และ 2. มอลต์ชนิดพิเศษ (Specialty Malt) โดยแบบแรกนั้นจะเพียบพร้อมไปด้วยเอนไซม์ที่จะย่อยแป้งทั้งจากตัวของมันเองและส่วนประกอบอื่นๆ ที่เติมเข้าไปตามสูตรเบียร์ และแบบหลังคือมอลต์ที่มุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติในการเสริมสีกลิ่นรสและเนื้อตัวของเบียร์ที่จะทำขึ้นมา

 

ภาพจาก rmperkins.com

 

มอลต์มีส่วนสำคัญต่อเบียร์อย่างยิ่งถึงระดับจิตวิญญาณของเบียร์ตำรับหนึ่งๆ เลยทีเดียว เนื่องจากเบียร์จะมีสีสันหรือมีน้ำมีนวลหนักแน่นมากน้อยอย่างไร มอลต์ที่ใช้นั้นคือคำตอบสำคัญ มอลต์ที่ผ่านการอบอย่างหนักหน่วงจนมีสีเข้มย่อมมอบสีทึบให้กับเบียร์ และในทำนองเดียวกันมอลต์ที่อบเล็กน้อยก็มักถูกนำไปทำเบียร์สีจางๆอย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับสูตรที่แต่ละผู้ผลิตเลือกใช้ด้วยว่าอัตราส่วนของมอลต์แต่ละชนิดที่เลือกใช้จะเป็นอย่างไร

นอกจากสีแล้ว ในทางหนึ่งมอลต์ก็ส่งผลต่อระดับแอลกอฮอล์ของเบียร์ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่าเบียร์ที่มีสีเข้มเพราะมอลต์ที่คั่วหรืออบเข้มนั้นจะแรงกว่าเบียร์สีอ่อน เนื่องจากว่าการคั่วมอลต์ส่งผลให้มีแป้งบางส่วนไม่สามารถมีปฏิกิริยาต่อกระบวนการหมักได้อีกต่อไป เรียกได้ว่าเป็นอะไรที่ยีสต์เมิน และนั่นย่อมส่งผลให้ดีกรีของเบียร์แบบนี้ไม่สูงโดดเด่นเหมือนสีที่เข้มจัดชวนหวั่นใจแต่อย่างใด

ภาพจาก preparedfoods.com

 

ต้องบอกเลยว่าถ้าเบียร์เป็นของขวัญจากพระเจ้า มอลต์เองก็คงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยล่ะ! ตอนนี้ขอตัวไปดื่มน้ำมอลต์หมักสักครู่ แล้วเจอกัน J

 

 


Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.