ความแตกต่างระหว่าง “โฮมบรูว์” และ “คราฟเบียร์”
ในยุคที่คราฟต์เบียร์จากเมืองนอกหลั่งไหลเข้ามาสู่ตลาดให้นักดื่มชาวไทยได้เลือกกันอย่างเสรี เรียกได้ว่าไม่แพ้ประเทศอย่างสิงคโปร์หรือฮ่องกง ที่เราเชื่อว่า ณ วันนี้ทั้ง 2 ประเทศยังอิจฉาเรา ในอีกมุมหนึ่งตลาดไทยคราฟต์เบียร์ที่เมื่อ 2-3 ปีก่อนเป็นเพิ่งการต้มเล่นๆ หรือต้มเอาไว้กินแบ่งเพื่อนกิน กลับกลายเป็นการค้าเต็มรูปแบบ มีทั้งรูปแบบการฝากขายเหมือนเบียร์นำเข้า หรือแม้กระทั้งเปิดร้านขายจริงจัง นั้นเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า “ไทยคราฟต์เบียร์” กำลังเติบโต
จากที่เราได้กล่าวมาเบื้องต้นถือเป็นข้อดีสำคัญที่เพื่อนๆ นักดื่มจะมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงราคาที่ไม่สูงมากเกินไปนัก แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งก็มีความน่ากังวลใจไม่น้อยในเรื่องของคุณภาพและรสชาติของไทยโฮมบรูว์หรือไทยคราฟต์เบียร์ ที่วันนี้เกิดยี่ห้อใหม่ๆ แทบจะทุกวัน แต่ยังไร้การควบคุม เจ้าไหนทำได้ดีก็ถือเป็นโชคของนักดื่ม แต่หากเจ้าไหนคุณภาพยังไม่ถึงหรือที่เรียกว่า “เบียร์ห่วย” นักดื่มก็ต้องพลอยรับผลกรรมไปเช่นกัน
วันนี้เราเลยหยิบเอาข้อเปรียบเทียบง่ายๆ 2-3 ข้อ ที่เป็นจุดสังเกตง่ายๆ ให้เพื่อนๆ เอาไว้ใช้ในการพิจารณาเลือกสรรเบียร์แก้วต่อไปที่จะเลือกดื่ม
1) สี และ ฟอง
เบียร์ที่ได้คุณภาพ (เราจะไม่พูดถึงว่ารสชาติถูกปากหรือไม่) จะต้องมีสีที่สอดคล้องกับสไตล์ที่ระบุไว้บนฉลาก เช่นบอกว่าเป็น Pale Ale ควรมีน้ำเบียร์สีเหลืองอมส้ม หรือเหลืองเข้ม ไม่ออกอมแดงมากเกินไป ส่วนจะใสหรือขุ่นไม่มีปัญหา ด้านของฟองอันนี้เป็นตัวบอกคุณภาพของเบียร์ได้เป็นอย่างดี เพราะเบียร์ที่ผลิตอย่างมีคุณภาพควรให้ฟองที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป และคงตัวอยู่ได้นานระดับหนึ่ง ไม่ใช่เทปุ๊บหายปั๊บ ฟองเบียร์ที่ดีควรหนานุ่มประมาณ 1-2 นิ้วจากปากแก้ว ถ้าได้ระดับนี้ถือว่าสวย แต่หากรินเบียร์มาแล้วฟองไม่มีหรือมีน้อยให้สันนิษฐานได้เลยว่าเบียร์อาจไม่สมบูรณ์
2) กลิ่น และรสชาติ
เรื่องนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่เราต้องบริโภคเข้าร่างกายหากมีกลิ่นหรือรสชาติที่ผิดเพี้ยนไป แน่นอนว่าย่อมไม่ดีเป็นแน่ โดยเริ่มจากกลิ่นจะต้องไม่มีกลิ่นแปลกปลอมที่ภาษาฝรั่งเค้าเรียกกันว่า off-flavor ซึ่งจริงๆ แล้วมีเป็นร้อยกลิ่น แต่กลิ่นหลักๆ ที่เรามักเจอบ่อยๆ เช่น กลิ่นข้าวโพด แอปเปิ้ลเขียว อ้อย สนิม กระดาษเก่าๆ หรือจำพวกกลิ่นเปรี้ยวหรือกลิ่นหมักของผลไม้(ถ้าไม่ใช่เบียร์ผลไม้ไม่ควรมี) รวมไปถึงกลิ่นข้าวหมักหรือกลิ่นแป้งบูดอีกด้วย ส่วนรสชาตินั้นน่าจะไม่ยากมากนักเพราะหากเราเจอกลิ่นที่แปลกปลอมก่อนตั้งแต่แรกก็ให้สันนิษฐานไว้ได้เลยว่ารสชาติคงเพี้ยนเช่นกัน โดยรสชาติที่ไม่พึงมีอย่างยิ่งคือรสเปรี้ยว (ยกเว้นสไตล์เบียร์เปรี้ยว) ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนในขั้นตอนการผลิต ดังนั้นหากเบียร์มีกลิ่นและรสชาติผิดเพี้ยนไปจุดนี้เราขอให้ระวัง
3) มาตรฐานของรสชาติ
หากเราเป็นแฟนคลับของเบียร์ยี่ห้อไหน หรือรสชาติไหนแล้วก็มักเกิดความเชื่อมั่นที่จะดื่มเบียร์ยี่ห้อนั้นๆ แต่ก็อีกเช่นกันที่เราคาดหวังในมาตรฐานที่เท่ากันทุกขวดหรือทุกแก้ว เพราะมีหลายครั้งที่เราดื่มเบียร์ยี่ห้อเดิม รสชาติเดิม แต่รสชาติกลับต่างออกไป นั้นเป็นเพราะการควบคุมคุณภาพของเบียร์แต่ละรอบการผลิตนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากกว่าที่จะทำให้เบียร์อร่อย จนมีคำกล่าวที่ว่า “ทำเบียร์ให้อร่อยว่ายากแล้ว ทำให้อร่อยเหมือนเดิมยิ่งยากกว่า” ยิ่งหากมองถึงอุปกรณ์ที่นักต้มไทยมีในปัจจุบันต้องบอกว่าใครต้มเบียร์ได้คุณภาพ 80-90% ของเดิมทุกครั้งถือว่าเทพมาก แต่ก็ต้องแยกให้ออกนะครับว่าดีเหมือนเดิมหรือห่วยเหมือนเดิม J
เพื่อนๆ ลองนำจุดสังเกต 3 ข้อง่ายๆที่เราแนะนำไปลองวิเคราะห์เบียร์แก้วต่อไปที่จะดื่มว่า สี ฟอง กลิ่น และรสชาติเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือยังคงอร่อยเหมือนครั้งก่อนที่เราดื่มหรือไม่ เพราะหากไทยคราฟต์เบียร์ยี่ห้อไหนสามารถตอบโจทย์ง่ายๆ 3 ข้อเบื้องต้น ก็ถือได้ว่าเค้าได้ข้ามจากการเป็น”โฮมบรูว์” ไปเป็น “ไทยคราฟต์เบียร์” เป็นที่เรียบร้อย