คราฟต์เบียร์เลือดไทยที่ได้ผลิบานสู่สถานะ ถูกกฎหมาย

คราฟต์เบียร์เลือดไทยที่ได้ผลิบานสู่สถานะ ถูกกฎหมาย

 

ภาพจาก menshealth

 

ในฐานะหนึ่งในผู้นิยมดื่มเบียร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคนหนึ่ง เรายอมรับเลยว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดเบียร์ในไทยโดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ๆ นั้นคึกคักมากจริงๆ ราวกับว่าทุกสัปดาห์ที่ผ่านไปนั้นจะต้องเกิดความเคลื่อนไหวใหม่ที่น่าสนใจจากแวดวงของอุตสาหกรรมนี้อยู่เสมอ และนั่นทำให้เรามั่นใจได้เลยว่าพวกเราในฐานะคอเบียร์ที่ยังกระตือรือร้นในการเสาะแสวงและ “เสพเบียร์” อยู่ในยุคสมัยนี้ ต่างก็เป็นคนที่โชคดีเหลือเกินเมื่อเปรียบเทียบกับนักดื่มรุ่นลุงป้าน้าอาของเรา ที่สำคัญก็คือ เราเชื่อว่าแม้สภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปี 2559 นี้อาจนับว่าดีพอตัว แต่สิ่งต่างๆ ยังน่าจะดีได้มากขึ้นอีก และหนึ่งในข้อพิสูจน์ของความรู้สึกที่ว่านี้ก็คือ การถือกำเนิดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายของคราฟต์เบียร์บรรจุขวดสัญชาติไทยที่มาจนถึงวันนี้ก็มีปรากฏอยู่ถึง 4 ยี่ห้อแล้ว หากเรานับแค่รายที่เกิดขึ้นและยังคงเดินทางไปกับความจริงเพื่อสิ่งสวยงามที่อยู่ในฝัน!(แฮ่ลองตามไปดูได้ที่ https://www.wishbeer.com/en/386-beer#/country-thailand) และหากว่าไม่ได้ใจร้อนกันจนเกินไปนัก เท่าที่เรารู้มานั้นอีกไม่นานเกินรอเราทุกคนคงได้มีโอกาสชมความงดงามหยดย้อยของยุคสมัยใหม่แห่งคราฟต์เบียร์ไทย ที่แม้อาจจะไม่เหมือนกับในอุดมคติมากมายนัก แต่การที่จะได้เห็นคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยที่ผุดขึ้นจากก้นครัวหลังร้านสู่วงกว้างสัก10 เจ้า ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมถึงแต่อย่างใด หรืออย่างน้อยเราก็มั่นใจได้ว่าไม่ว่าอย่างไรประเทศไทยก็จะมีร้านรวงผับบาร์ที่ต้มเบียร์อร่อยๆ และสดใหม่ไว้ให้บริการเกิดขึ้นอีกแน่นอน

 

ภาพจาก eventumgroup

 

วันนี้เราจะมาแนะนำเบียร์“เลือดไทย” ทั้ง 4 ยี่ห้อ ที่เพียรพยายามบากบั่นก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งปวงอันสุดแสนจะมโหฬารมหาศาลของกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตเบียร์ในประเทศไทยมาได้สำเร็จ และแม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงตั้งไข่ เราก็หวังสุดใจเลยว่าทุกรายจะพัฒนาจนเติบใหญ่ได้ต่อไป ฮูเร่!

 

เบียร์ภูเก็ต (Phuket Beer)

 

ภาพจาก hungry1072

 

เบียร์ภูเก็ตนั้นอยู่คู่กับนักดื่มมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และทุกกันนี้ก็มีการวางขายในหลายประเทศทั่วโลกนอกจากในประเทศไทย ดังนั้นเราจึงอาจพบเจอเบียร์เจ้านี้ได้ค่อนข้างบ่อยกว่าบรรดาน้องใหม่ที่เพิ่งลืมตามองโลกและด้วยปัจจัยเกี่ยวกับขนาดและความเจริญเติบโตที่ว่านี้เอง หลายคนจึงมองว่าเบียร์ภูเก็ตไม่ควรถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ “คราฟต์เบียร์” เสียทีเดียว อย่างไรก็ตามก็ยังมีการถกเถียงจากอีกหลายคนเช่นกันในประเด็นนี้

เบียร์ภูเก็ตก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2545 โดยผลิตเป็นเบียร์ลาเกอร์ระดับพรีเมี่ยม(ในสไตล์ยุโรป)ซึ่งผลิตในจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับเบียร์ตลาดที่ขายกันโดยทั่วไปข้อโดดเด่นคือมีการใช้ข้าวหอมมะลิเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบ และไม่มีการใช้วัตถุแต่งเติมอื่นหรือสารสังเคราะห์ในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด ทั้งนี้ ความภาคภูมิใจประการหนึ่งของเบียร์เจ้านี้ก็คือการได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่องจากรายการ Monde Selection จนกระทั่งได้รับรางวัลพิเศษมาครองเลยทีเดียว

 

ภาพจาก liger beer

 

ด้วยระยะเวลากว่าทศวรรษนี้เอง เบียร์ภูเก็ตจึงได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาหลายครั้งหลายหน ในปัจจุบันเบียร์ภูเก็ตผลิตขึ้นที่โรงเบียร์ซานมิเกลในไทยและอีกแห่งที่โรงเบียร์ในกัมพูชา ใช้สัญลักษณ์เป็นแหลมพรหมเทพและนกเงือก โดยมีวางขายทั้งในรูปแบบขวดและกระป๋องทั้งนี้ นอกจากเบียร์ภูเก็ตที่นับว่ายืนหยัดฝ่าพายุฝนมาได้พอสมควรแล้ว พวกเขาได้เริ่มปัดฝุ่นและผลักดันพัฒนาโครงการเบียร์อีกยี่ห้อหนึ่งเข้าสู่ตลาดและหลายคนก็อาจได้มีโอกาสลิ้มลองมาบ้างแล้ว นั่นก็คือเบียร์ไลเกอร์ ซึ่งเป็นสไตล์ดุงเคล (เบียร์แบบลาเกอร์ดำ) ที่ซ่อนรสคล้ายคาราเมล

ดูเพิ่มที่ https://www.wishbeer.com/en/beer/1257-phuket-beer-330-ml-5.html


เบียร์เชียงใหม่ (Chiang Mai Beer)

 

ภาพจาก chiang mai beer

 

คราฟต์เบียร์ไทยร่วมสมัยรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งสถานภาพ “ถูกกฎหมาย” ในปีแห่งการเบ่งบานของคราฟต์เบียร์ในไทย ซึ่งก็คือปีปัจจุบัน (พ.ศ.2559) นี้เอง โดยเบียร์เชียงใหม่นั้นถูกผลิตขึ้นในประเทศลาวบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงก่อนที่จะถูกส่งกลับเข้ามาขายในประเทศไทยเรื่องราวของเบียร์เชียงใหม่นั้นได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อหลายปีก่อนในขณะที่ผู้ก่อตั้งบางคนได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาและเกิดความประทับใจอย่างมากกับวัฒนธรรมคราฟต์เบียร์ที่กำลังรุ่งโรจน์แบบสุดขั้วที่นั่น กระทั่งได้เริ่มฝึกหัดทำเบียร์เพื่อดื่มเองเล็กๆ น้อยๆ และจากนั้นได้กลับมาทำเบียร์ที่ประเทศไทยในแบบ “ใต้ดิน” เรื่อยมาในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคราฟต์เบียร์ในประเทศไทยกำลังก่อตัว โดยพวกเขาตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องหาทางทำเบียร์ทางเลือกขึ้นในท้องถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าในที่สุดก็ได้เกิดเป็นเบียร์เชียงใหม่ขึ้นนั่นเองทั้งนี้ เบียร์เจ้านี้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูป “กาแล” สีผลส้ม

 

ภาพจาก chiang mai beer

 

เบียร์เชียงใหม่นั้นผุดขึ้นบนดินในยุคสมัยที่แวดวงนักดื่มเบียร์กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเหนียวแน่น ส่งผลให้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนอกสนใจค่อนข้างมาก จนกระทั่งคำติชมหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับคุณลักษณะของเบียร์ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ฮือฮาในหมู่นักดื่มชาวไทยอยู่พักใหญ่เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามปัจจุบันเบียร์เชียงใหม่เริ่มกระจายตัวกว้างออกไปเรื่อยๆ ทั่วประเทศ โดยสามารถพบเจอได้มากที่สุดในกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่

เบียร์เชียงใหม่ที่วางขายอยู่นั้น มีทั้งหมด 2 ฉลากด้วยกัน คือ1) เชียงใหม่ไวเซ่น ซึ่งเป็นเบียร์สไตล์ไวเซ่นที่มีหนึ่งในวัตถุดิบหลักเป็นข้าวสาลีสายพันธุ์ฝาง (จากทุ่งนาในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่) และผ่านการกรองบางส่วน กับ2) รถแดงไอพีเอ ที่เป็นเบียร์สไตล์อินเดียเพลเอลที่มีกลิ่นอายแบบอังกฤษ

ดูเพิ่มที่ https://www.wishbeer.com/en/ipa/1449-red-truck-ipa-330-ml-5.html
และhttps://www.wishbeer.com/en/white-beer-wit/1448-chiang-mai-weizen-330-ml-5.html

 

ชาละวันเพลเอล (Chalawan Pale Ale)

 

ภาพจาก Quaint Bangkok

 

เบียร์ชาละวันเป็นผลผลิตจากฝีมือของชายผู้คร่ำหวอดในธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างยาวนาน และเปี่ยมประสบการณ์ทั้งในด้านการขายเรื่อยมาจนถึงการผลิต โดยเบียร์พญาจระเข้ที่เราเห็นนี้นับได้ว่าเป็นการต่อยอดมาจากหนึ่งในโครงการสำคัญของเขาที่จังซีลอน (ภูเก็ต) ซึ่งก็คือบรูว์ผับที่ถึงแม้ว่าจะเป็นสถานที่ผลิตเบียร์ขนาดเล็กแต่กลับมีชื่อเสียงโด่งดังนามว่า Full Moon Brew Work นั่นเอง โดยในครั้งแรกมีการผลิตเบียร์ชาละวันขึ้นเป็นหนึ่งในเบียร์สดหลากหลายตำรับที่ร้านทำไว้เพื่อคอยบริการลูกค้าที่มาดื่มกินในบริเวณร้านเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อปัจจัยทุกอย่างบ่มเพาะจนลงตัวแล้ว เขาจึงได้นำเบียร์สูตรนี้ไปปรับเพื่อผลิตที่ออสเตรเลียและนำเข้ามาจัดจำหน่ายเป็นการทั่วไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย(ปัจจุบันก็ยังมีการผลิตในรูปแบบเบียร์สดขึ้นที่ร้านเช่นกัน)

ชื่อของเบียร์ชาละวันนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นฉากดำเนินเรื่องของนิทานพื้นบ้านเรื่องไกรทอง หากแต่บุคลิกของตัวละครหลักอันสุภาพหล่อเหลาทว่าซ่อนความเหี้ยมเกรียมเอาไว้ของชาละวันนั้นสอดรับเป็นอย่างดีกับเบียร์สูตรนี้ โดยเบียร์ชาละวันเป็นเพลเอลที่ใช้ข้าวกล้องและน้ำผึ้งป่าเป็นส่วนผสม

 

ภาพจาก Full Moon Brew Work

 

ปัจจุบันเราสามารถพบเบียร์ชาละวันวางขายอยู่ทั่วไปในร้านรวงระดับกลางถึงสูง โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตและกรุงเทพมหานคร

ดูเพิ่มที่ https://www.wishbeer.com/en/american-pale-ale-apa/2159-chalawan-pale-ale-330ml-50.html

 

คราฟต์เบียร์ไทยสโตนเฮด(Stone Head Thai Craft Beer)

 

ภาพจาก Stone Head Thai Craft Beer

 

การเกิดขึ้นของเบียร์สโตนเฮดนั้นนับเป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่กลายเป็นกระแสผู้คนพูดถึงกันมากในปีนี้ โดยเฉพาะในบรรดาแวดวงนักดื่มพันธุ์แท้และนักดื่มสายออนไลน์ โดยเบียร์เจ้านี้ได้รับชื่อเสียงเรียงนามมาจากการตั้งให้โดยอาจารย์วิชิตหรือที่คอคราฟต์เบียร์ตัวยงชาวไทยต้องรู้จักกันดีในชื่อ “พี่ชิต” แห่งสำนักชิตเบียร์นั่นเอง โดยคำว่า “เบียร์สโตนเฮด”นั้นไม่ได้สื่อถึงแหล่งพักตากอากาศชายทะเลอย่างหัวหินแต่อย่างใด แต่หมายถึงการเป็นเบียร์หัวแข็งที่ต่อสู้และไม่ยอมแพ้ให้กับกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ โดยพวกเขามุมานะฝ่าฟันไปตั้งถิ่นฐานการผลิตขึ้นที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา เพื่อผลิตเบียร์กลับเข้ามาขายยังประเทศไทยโดยนิยามเบียร์ของพวกเขาว่า “รสชาติแห่งอิสรภาพ”

 

จาก Stone Head Thai Craft Beer

 

เบียร์สโตนเฮดนั้นได้รับการผลิตขึ้นจากฝีมือของบรรดานักต้มเบียร์ที่มีชื่อชั้นโดดเด่นหลายคนซึ่งเคยโลดแล่นอยู่ในวงการเบียร์ “ใต้ดิน” และเช่นนั้นจึงได้รับการสนับสนุนผลักดันจากแวดวงของคอคราฟต์เบียร์จำนวนไม่น้อย ความสำเร็จที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพวกเขาก็คือการได้นำเอาเบียร์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของคนไทยไปแสดงในงานเทศกาลเบียร์ในต่างประเทศมาแล้วในฐานะคราฟต์เบียร์รายแรกจากประเทศไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม และได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกมากมายแม้ว่าจะเป็นเบียร์น้องใหม่ก็ตามทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันโรงเบียร์ของเบียร์สโตนเฮดยังไม่ได้เปิดรับผลิตเบียร์ให้กับผู้ที่สนใจทำเบียร์เป็นของตนเองอย่างเป็นทางการ แต่พวกเขาก็มีศักยภาพและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบเพื่อรองรับภาระหน้าที่ดังกล่าวต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

ภาพจาก Stone Head Thai Craft Beer

 

ขณะนี้เบียร์สโตนเฮดที่นำเข้ามาวางขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีทั้งหมด 4 ฉลากด้วยกัน ได้แก่ 1) Stonehead 7 Days Witbier ซึ่งเป็นวีทเบียร์ที่ปรุงด้วยเปลือกส้มแห้งหลายชนิด 2) Stonehead Butterfly Pea Wheat วีทเบียร์ที่มีส่วนผสมพิเศษคือดอกอัญชัน 3) Stonehead Koh Kong Pale Ale เบียร์เพลเอลที่ใช้ข้าวเม่าเข้ามาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญ และ 4) Stonehead Tire Burning Weizen เบียร์ไวเซ่นสไตล์เยอรมันซึ่งผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมโดยแท้

เบียร์สโตนเฮดจัดจำหน่ายด้วยระบบการสั่งจองล่วงหน้าผ่านร้านค้าเบียร์ออนไลน์ชั้นนำอย่าง Wishbeer อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีวางจำหน่ายในร้านคราฟต์เบียร์หลายแห่งทั่วประเทศ

ดูเพิ่มที่ https://www.wishbeer.com/en/white-beer-wit/2097-stone-head-7days-witbier-330ml-55.html และ https://www.wishbeer.com/en/wheat-beer/2095-stone-head-butterfly-pea-wheat-330ml-6.html และ https://www.wishbeer.com/en/pale-ale/2093-stone-head-koh-kong-pale-ale-330ml-55.html
และ https://www.wishbeer.com/en/hefeweizen/2089-stone-head-tire-burning-weizen-330ml-6.html

เอ้า! ชนแก้ววนไปสิครับรออะไร


Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.