สวัสดีวันปีใหม่จีน : คราฟต์เบียร์จีนไปถึงไหน (ตอนจบ)

สวัสดีวันปีใหม่จีน : คราฟต์เบียร์จีนไปถึงไหน (ตอนจบ)

ในตอนที่แล้ว เรามาชวนให้คุณคิดถึงหน้าตาของอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์จีนในปี 2018 ว่าก้าวหน้าไปถึงขั้นไหนแล้ว ที่นั่นได้เกิดการต่อสู้เพื่อพลิกมโนทัศน์ของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องเบียร์มาบ้างหรือไม่ มากน้อยอย่างไร หรือทุกอย่างค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านเติบโตไปตามที่ควรจะเป็นในสากลโลก

เราได้เล่าอย่างรวบรัดถึงผลสำเร็จจากการที่ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันคราฟต์เบียร์ในจีนมาแล้วเล็กน้อย เขาและเธอเหล่านั้นไม่ว่าจะมาจากฝั่งผู้ให้ความรู้ เจ้าของร้านค้า ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เรื่อยไปจนถึงผู้บริโภคทั้งจากท้องถิ่นและต่างแดนต่างก็นำพาวงการคราฟต์เบียร์จีนมาถึงจุดที่เรียกได้ว่า “พอตัว” และมีสภาวะที่ดีกว่าหลายแห่งในโลกอยู่มากทีเดียวอะแฮ่ม!

คราวนี้เราจะมาดูกันว่า ทุกวันนี้มีโรงเบียร์ขนาดเล็ก (ที่ประเทศจีนนั้น เมื่อพูดถึงโรงเบียร์ขนาดเล็ก ใจความมักจะสื่อโรงเบียร์ที่เป็นแบบ Brewpub ซึ่งคุณเข้าไปเยี่ยมชมและกินดื่มได้) ระดับแนวหน้าเจ้าใดบ้างที่เป็นขุมกำลังหลักซึ่งคอยขับเคลื่อนพัฒนาการของวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์จีนให้ก้าวหน้าไปอย่างเต็มภาคภูมิ

 

Young Master Ales

 

 

โรงผลิตคราฟต์เบียร์แห่งแรกของเกาะฮ่องกงซึ่งเพิ่งขึ้นฝั่งไทยมาสด ๆ ร้อน ๆ นี้ เป็นผลงานของชาวอเมริกันนามว่า Rohit Dugar โรงเบียร์นี้ถือกำเนิดในปี 2013 เมื่อเขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งงานในสายวาณิชธนกิจจากบริษัทสาขาขององค์กรใหญ่โตอย่าง Goldman Sachs เพื่อมาต้มเบียร์เต็มเวลา จุดนี้นับว่าใจเด็ดไม่ใช่เล่น เนื่องจากในเวลานั้นเขาเพิ่งใช้ชีวิตอยู่ที่ฮ่องกงได้เพียงแค่ 2 ปีครึ่งเท่านั้นเอง

ความเฉพาะตัวที่น่าสนใจของเบียร์จาก Young Master Ales ก็คือการไม่กรองตะกอนและการไม่อัดแก๊สด้วยเทคนิควิธีใด ๆ ทั้งสิ้น และแน่นอนว่าเบียร์สำนักนี้ย่อมไม่ผ่านกระบวนการยืดอายุเช่นกัน การที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเบียร์ทุกแก้วที่ลูกค้าได้ดื่มนั้นสดใหม่จริง ต่างจากเบียร์ยี่ห้อใหญ่ ๆ ที่มุ่งเน้นการขนส่งและการทำตลาดให้กว้างขวาง

นอกจากจุดยืนทางเทคนิคแล้ว Dugar ยังคัดสรรวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารท้องถิ่นหลายชนิดมาใช้ในการทำเบียร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเปลือกส้มแมนดาริน ชาเขียว ดอกมะลิ ดอกเก๊กฮวย หรือดอกหอมหมื่นลี้

อ้อ ใครที่ไปเที่ยวฮ่องกงและสนใจศาสตร์และศิลป์ในการทำคราฟต์เบียร์ เชิญแวะชมที่โรงเบียร์ได้ทุกวันเสาร์นะ

 

Great Leap Brewing

 

โรงผลิตคราฟต์เบียร์แห่งแรกในปักกิ่ง ฝีมือของคู่สามีภรรยา (ฝ่ายชายเป็นชาวอเมริกันและฝ่ายหญิงเป็นชาวจีน) จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของโรงเบียร์แห่งนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าการที่ฝ่ายสามีคือนาย Carl Setzer พบว่าการอยู่ที่จีนทำให้เกิดอาการคอแห้งแบบชวนหงุดหงิดขั้นสุด เพราะในเวลานั้นมีเบียร์อยู่แค่ไม่กี่ยี่ห้อให้ดื่ม เขาจึงดำริจะผลิตเองเสียเลย

เบียร์ Great Leap นั้น มักจะดึงเอาเสน่ห์จากท้องถิ่นมาเป็นส่วนประกอบในเบียร์เสมอ ตัวอย่างเช่น เบียร์ที่ใช้เปลือกอบเชย ชาอู่หลง หรือแม้กระทั่งฮวาเจียว (พริกไทยเสฉวน ลองนึกถึงมะหล่าหรือเจ้าหมาล่ายอดฮิตดูสิ) โดยพวกเขาพยายามสร้างสรรค์เบียร์ออกมาให้มีความลงตัวระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกเพื่อสะท้อนตัวตนนั่นเอง

ปัจจุบัน Great Leap ได้ขยายกิจการไปเรื่อย ๆ สมชื่อ และตอนนี้ก็ได้เปิดร้านเพิ่มขึ้นเป็น 3 สาขาในปักกิ่งแล้ว

 

Harvest Brewery

 

 

โรงผลิตคราฟต์เบียร์แห่งแรกของเฉิงตูนั้นก้าวผ่านอุปสรรคมาไม่น้อยทีเดียวกว่าจะประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ในช่วง 3 ปีแรกระหว่างที่นาย Wang Rui ได้พยายามขยายกำลังการผลิตจากระบบ 200 ลิตร เป็น 2000 ลิตร นั้น เขาต้องรับมือกับประเด็นทางกฎหมายที่ดูแลเรื่องโรงเบียร์ขนาดเล็กในจีนซึ่งในตอนนั้นยังอยู่ในช่วงรอยต่อและมีข้อจำกัดยุบยิบเปลี่ยนแปลงไปมามากมายอยู่ตลอด วันหนึ่งเขาถึงกับพลาดท่าถูกสั่งปิดโรงงานลงเลยทีเดียว

หลังจากเวลาล่วงเลยไปจนถึงปี 2015 เขาก็ได้รับเอกสารจากทางการให้เดินหน้าเปิดโรงเบียร์ได้ในที่สุด แต่เรื่องสุดเศร้าซ้ำซ้อนก็เกิดขึ้น เพราะ 3 วันให้หลังจากนั้น อาคารข้าง ๆ โรงเบียร์ก็เกิดเพลิงไหม้ และทุกอย่างก็พังราบเป็นเถ้าถ่านไป

แต่ในความมืดมิดก็มีแสงสว่าง และนี่เป็นแสงสว่างที่เกิดจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของวงการคราฟต์เบียร์จีนโดยแท้ เมื่อผู้คนในแวดวงคราฟต์เบียร์จีนได้หยิบยื่นความช่วยเหลือมากมายเพื่อให้ Harvest ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในครั้งนั้น Master Gao ถึงกับผลิตเบียร์ที่ชื่อว่า “นกฟีนิกซ์”(Fire Bird) ขึ้นเพื่อสนับสนุนโรงเบียร์แห่งนี้ และยังมีอีกหลายต่อหลายคนที่ยินดีบริจาคอุปกรณ์ทำเบียร์ให้กับ Wang Rui ซึ่งรวมไปถึงผู้บริโภคที่พากันสั่งซื้อเบียร์ล่วงหน้ากันอย่างล้นหลามด้วย   

 

PEKO Brewing Co.

 

 

โรงผลิตคราฟต์เบียร์แห่งแรกในเสินเจิ้นนั้นได้ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในนาม Pearl River Craft Brewing Co. ซึ่งทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิตเบียร์ให้กับร้านอาหารและผับบาร์เท่านั้น แต่เมื่อเวลาได้ผ่านไป 3 ปี นาย Hoss Preheim ผู้ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและคนทำเบียร์ที่นี่ก็ได้ตัดสินใจว่าเขาควรจะขยับสู่การเปิดโรงเบียร์และทำเบียร์ของตัวเองได้เสียที เขาจึงสงวนสิทธิ์สูตรเบียร์ของโรงผลิตเดิมและก่อตั้ง PEKO Brewing ขึ้นในที่สุด

ทุกวันนี้ PEKO ไม่ได้ผลิตแค่เพียงเบียร์แต่ยังทำไซเดอร์ด้วย และร้านนี้ค่อนข้างออกแนวลุย ๆ ดิบ ๆ ติดดินพอสมควร โดยตั้งอยู่ในห้องริมทางบนถนนคนเดินที่พลุกพล่าน และยังอนุญาตให้ลูกค้านำอาหารมานั่งกินเองได้อีกต่างหาก

 

Boxing Cat Brewery

 

 

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ โรงเบียร์ Boxing Cat จะถูกซื้อกิจการไปโดยจักรวรรดิเบียร์ AB Inbev แล้วก็ตาม เรายังคงนับถือว่าที่นี่ก็เคยเป็นโรงผลิตคราฟต์เบียร์แห่งแรกของเซี่ยงไฮ้อยู่ดี โรงเบียร์แห่งนี้เป็นผลงานของ Kelly Lee ซึ่งเป็นนักทำร้านอาหารมือดี ดังนั้นบรรยากาศที่ Boxing Cat จึงดูเหมือนกับร้านอาหารเต็มรูปแบบมากกว่า Brewpub ทั่วไป ทั้งองค์ประกอบของเมนูต่าง ๆ และการตกแต่งร้าน และที่นี่นอกจากจะทำเบียร์เองแล้ว ก็ยังทำแฮมและบรรดาเบเกอรี่เองด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน Boxing Cat ก็เติบโตดีมาก มีร้าน 2 สาขาแล้วด้วยนะ 

โรงเบียร์ทั้ง 5 แห่งที่กล่าวถึงในครั้งนี้ (ไม่รวมโรงของ Master Gao ที่เล่าไว้แล้วในตอนที่ 1) ต่างก็มีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือเป็นโรงเบียร์แห่งแรกในท้องถิ่นของตนเอง ที่ได้เริ่มต้นขับเคลื่อนโลกของคราฟต์เบียร์จีนร่วมกันจนเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและยังคงมีส่วนช่วยกำหนดทิศทางของพัฒนาการอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มีโรงเบียร์อีก 1 แห่งที่เราจะละไว้ไม่ได้เลย เนื่องจากได้ล่องสำเภาเข้าสู่ประเทศไทยก่อนใครเพื่อน นั่นก็คือ

 

MoonzenBrewery

 

 

โรงเบียร์นี้ก็มาจากฮ่องกงเช่นกัน และผู้ก่อตั้งก็เป็นสามีภรรยาคู่รักต่างถิ่นที่มาพบรักกันที่ประเทศจีน ฝ่ายชายคือนาย Laszlo Raphael อดีตวิศวกรปิโตรเลียมที่ได้ลาออกจากงานในตูนิเซีย แอฟริกาเหนือ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ และฝ่ายหญิงคือ Wong Raphael ซึ่งทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเกาะฮ่องกงนั่นเอง

แม้ว่าทั้งคู่จะไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำเบียร์เชิงพาณิชย์มาก่อน แต่ Laszlo ก็ทำเบียร์ดื่มเองอยู่เป็นประจำ ในระดับที่เรียกได้ว่าพอมีแนวทางอยู่บ้าง และด้วยลูกยุจากเพื่อนฝูงที่เห็นว่าเขาทำเบียร์ได้ดีพอตัว จากระบบผลิต 5 แกลลอนที่คุ้นเคย จึงได้ขยับขยายเรื่อยมาจนกลายเป็น Moonzen Brewery ที่ผลิตคราวละหลายพันลิตรได้ในปัจจุบัน

Moonzen นั้นไม่เพียงแต่ทำเบียร์ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีเบียร์ที่รับผลิตให้กับร้านอาหาร ไปจนถึงผลงานเบียร์ที่ทำร่วมกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ และศิลปินท้องถิ่นด้วย และล่าสุดนี้พวกเขาก็ได้เริ่มออกแบบเบียร์ที่สะท้อนตัวตนของแต่ละจังหวัดออกมาด้วยการใช้ส่วนผสมท้องถิ่นอย่างเช่น ฮวาเจียว และส้มโอสีทองด้วย

ในบรรดาโรงผลิตคราฟต์เบียร์กว่า 300 โรงในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่ามีหลายแห่งทีเดียวที่เข้าข่ายคำว่า “ชั้นดี”  ดังนั้นในโอกาสหน้าเราจะลองมาพูดเจาะถึงโรงเบียร์เด็ด ๆ ของแต่ละจังหวัดหรือแต่ละมณฑลกันดูบ้างนะ จะได้เห็นภาพชัดขึ้น ไม่แน่นะว่าคอเบียร์ไทยอาจจะไปตามลายแทงและเกิดติดอกติดใจคราฟต์เบียร์จีนขึ้นมาก็เป็นได้ อย่าลืมติดตามอ่านล่ะ

 


Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.