มาเรียนรู้วิธีง่ายๆ ในการเก็บเบียร์กันดีกว่า
เบียร์หนึ่งขวดที่ถูกผลิตอย่างตั้งใจด้วยขั้นตอนที่พิถีพิถัน และเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจนมาถึงมือผู้ที่มีความหลงใหลในรสชาติของเบียร์อย่างเรา ซึ่งก็ย่อมต้องคาดหวังในรสชาติที่ดีที่สุดที่ควรจะเป็น แต่ก็มักมีความเข้าใจผิดหรือความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เบียร์ตัวโปรด (และบางตัวก็หายากเสียด้วย) สูญเสียรสชาติไปอย่างน่าเสียดาย วันนี้เราจึงขอแนะนำวิธีการเก็บรักษาเบียร์ที่ง่ายๆ 4 วิธี เพื่อที่จะไม่ทำให้เบียร์เสียรสชาติ
- เก็บเบียร์ให้ไกลแสง : เพื่อนๆ เคยสังเกตหรือสงสัยกันมั้ยว่าทำไมขวดเบียร์จึงเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือที่เราเรียกกันว่า “สีชา” นั่นก็เพราะว่า ขวดสีชานั้นสามารถช่วยกรองแสงซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้น้ำเบียร์ภายในขวดรสชาติเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะเมื่อแสงแดดส่องโดยตรงถึงน้ำเบียร์ น้ำเบียร์จะมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์เกิดขึ้น หรือที่ฝรั่งเรียกว่ากลิ่น “Skunk” โดยเหตุผลง่ายๆ ก็คือเบียร์ส่วนใหญ่ในโลกจะผลิตโดยมีส่วนผสมของดอกฮอปส์ซึ่งจะถูกต้มพร้อมกับน้ำเวิร์ธ แล้วจะให้สารที่เรียกว่า “isohumulones” ซึ่งเป็นสารให้ความขมในเบียร์ แต่เมื่อสารเคมีตัวนี้โดนแสงแดด (แม้ว่าจะเป็นขวดสีชา สีเขียว หรือสีใสก็ตาม) สารตัวนี้ก็จะค่อยๆ สลายไป แต่จะเหลือสารในกลุ่ม “Sulfer” ซึ่งเป็นตัวการสำคัญและเป็นที่มาของกลิ่น “Skunk” นั้นเอง
ไม่ใช่แค่แสงแดดหรือแสงที่เกิดจากดวงอาทิตย์โดยตรงเท่านั้น แม้แต่แสงจากหลอดไฟก็มีผลอย่างเดียวกัน เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่าแสงจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นหากเพื่อนๆ มีเบียร์เก็บไว้ที่บ้าน จำไว้ข้อแรกเก็บเบียร์ให้อยู่ไกลจากแสงให้ได้มากที่สุด
- เบียร์กลัวการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ : นอกจากแสงแดดแล้วเบียร์ยังกลัวการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอีกด้วย ซึ่งเหตุผลก็จะคล้ายกันกับเรื่องของแสง เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่มากเกินไป ก็จะส่งผลโดยตรงต่อสารเคมีที่อยู่ในน้ำเบียร์ ซึ่งก็จะทำให้เบียร์มีรสชาติที่ผิดเพี้ยนไปได้โดยง่าย
ดังนั้นนอกจากการเก็บเบียร์ให้อยู่ไกลจากแสงแล้ว เรายังควรเก็บเบียร์ในที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่สม่ำเสมอเช่นในตู้เย็น หรือหากใครตู้เย็นเต็มไม่สะดวก ก็ควรหาลังกระดาษทึบแสงมาเก็บเบียร์แล้วนำไปไว้ในห้องที่ไม่ร้อนจัด หรือห้องที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบ่อยครั้งอย่างห้องนอนที่เปิดแอร์ เพราะหากเราแช่เบียร์จนเย็นแล้วไม่ดื่ม แล้วนำออกมาวางไว้ในอุณหภูมิปกติ และยิ่งหากทำซ้ำหลายครั้ง รับรองว่าเบียร์ตัวโปรดของคุณจะเสียรสชาติอย่างแน่นอน
- เบียร์ไม่ใช่ไวน์ ไม่ควรวางแช่ในแนวนอน : คนไทยส่วนใหญ่คุ้นชินกับวัฒนธรรมของการดื่มไวน์มาก่อนที่จะเป็นเบียร์ โดยภาพที่คุ้นตาคือการวางขวดไวน์ในแนวนอน เพื่อเป็นการรักษาให้สภาพของจุกคอร์กให้มีความชื่นอยู่ตลอดเวลา จะได้ไม่ขาดตอนเปิด โดยเฉพาะไวน์ที่เก็บเป็นเวลานาน แต่สำหรับเบียร์ไม่ใช่แบบนั้นเพราะเบียร์จะยังมียีสต์อยู่ภายในขวด (ยกเว้น Pilsner) ดังนั้นเมื่อเราแช่เอียงขวดนอน ยีสต์ก็จะตกตะกอนลงมาอยู่ที่ข้างขวด ซึ่งเมื่อเราเปิดขวดดื่มนั้นตะกอนของยีสต์ก็จะฟุ้งกระจายมากเกินไป (ยกเว้นเบียร์สไตล์ไวเซ่นของเยอรมันที่นิยมดื่มพร้อมตะกอนยีสต์) และอีกหนึ่งจุดที่มักเกิดขึ้นเมื่อเราเอียงขวดเบียร์นอนเป็นเวลานานคือ ฝาเบียร์เกิดสนิม เพราะเหมือนเราเอาฝาเบียร์ไปจมอยู่ในน้ำตลอดเวลา ที่สำคัญเป็นน้ำที่มีความซ่าเสียด้วย โดยหากใต้ฝาเบียร์เกิดสนิมแล้วล่ะก็จะยิ่งทำให้เบียร์มีรสชาติที่ผิดเพี้ยนไปอย่างมาก
- เบียร์ไม่ใช่ไวน์ ไม่ต้องเก็บนาน : เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มให้เร็วที่สุดนับจากที่วันผลิต ยิ่งโดยเฉพาะเบียร์ที่มีส่วนผสมของฮอปส์เยอะอย่าง เพลเอล ไอพีเอ หรือดับเบิลไอพีเอ เพราะยิ่งเราดื่มเร็วมากเท่าไหร่ ก็เสมือนว่าเราได้ดื่มความสดของฮอปส์ในเบียร์เหล่านั้น แต่หากเราทิ้งเอาไว้นาน สาร “isohumulones” ตัวเดียวกับที่กลัวแสงแดด ก็จะยิ่งค่อยๆเปลี่ยนแปลงและสลายไปตามธรรมชาติ แม้ว่าเราจะเก็บดีไม่โดนแสง และในอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ตาม
ยกเว้น เบียร์ในกลุ่ม สเตาท์และอิมพีเรียลสเตาท์ ที่มักนิยมเก็บนานนับจากวันที่ผลิต (ประมาณ 12 – 18 เดือน) เนื่องจากสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ในเบียร์ก็จะสลายไปตามธรรมชาติเช่นกัน ก็จะทำให้เบียร์สเตาท์มีรสชาติที่สมดุลมากยิ่งขึ้น และก็ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นที่หายไปของฮอปส์ เพราะเบียร์ประเภทนี้ไม่นิยมใส่ฮอปส์มากหรือโชว์กลิ่นและรสชาติของฮอปส์เป็นจุดเด่นอยู่แล้ว เมื่อได้รู้วิธีการเก็บรักษาเบียร์ง่ายๆ 4 อย่างไปแล้ว หวังว่าในครั้งต่อไปที่เพื่อนๆได้เบียร์ตัวโปรดมาคงจะลองเก็บรักษาตามวิธีที่เราแนะนะครับ เพื่อที่จะได้ดื่มเบียร์ที่มีรสชาติที่ดีที่สุดตามที่ควรจะเป็น
No author
It’s much easier to unrsnetadd when you put it that way!
No author
Would be nice to have some of these articles in English too…