What is Lambic หรือ “เบียร์เปรี้ยว”
เราเชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Lambic” หรือ “เบียร์เปรี้ยว” กันมาบ้าง และเราก็เชื่อว่ามีเพื่อนๆหลายคนยังคงสงสัยว่ามันคือเบียร์ประเทศไหน ?? ทำไมถึงเปรี้ยว?? มันใช่เบียร์ผลไม้มั้ย?? หรือมันคือเบียร์เสีย ?? วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องของ “เบียร์เปรี้ยว” แบบง่ายให้เพื่อนๆ ฟังกันดีกว่า
“Lambic” หรือ “เบียร์เปรี้ยว” เริ่มต้นที่ไหนนั้นยากที่จะระบุ แต่เมืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองหลวงของเบียร์ Lambic คือ Brussels, Belgium เนื่องจากที่เมืองนี้มีโรงเบียร์ที่มีชื่อเสียงด้านการทำเบียร์ Lambic อย่าง Cantillon Brewery ที่มีประวัติในการทำเบียร์มากว่า 100 ปี โดยเบียร์ที่ผลิตจากโรงเบียร์นี้กลายเป็นของหายากและมีราคาแพงเรือนแสนอีกด้วย
ทำไมเบียร์ขวดนึงถึงได้แพงขนาดนั้น ?? นั้นเป็นเพราะขั้นตอนในการผลิตมันช่างแสนยากลำบาก ยิ่งไปกว่านั้นในแต่ละปี อาจได้ผลผลิตที่แตกต่างกันแม้ว่าจะใช้ส่วนผสมเท่าเดิมก็ตาม ไม่ต่างอะไรกับไวน์เก่าเก็บ นั้นก็เพราะส่วนประกอบสำคัญที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่าง “ยีสต์” นั้นเอง
การผลิตเบียร์ Lambic นั้นนิยมผลิตในช่วงเดือนตุลาคม – มีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงหน้าหนาว เพราะหัวใจสำคัญของเบียร์ Lambic นั้นก็คือยีสต์ที่อยู่ในอากาศในพื้นที่นั้นๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวแบคทีเรีย รา และเชื้ออื่นๆจะลดน้อยลง โดยยีสต์ที่จะมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเบียร์โดยเจ้ายีสต์ที่ว่านั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์หลักๆ คือ
- Brettanomyces
นิยมใช้กับเบียร์ประเภท Brett Ales, wood/barrel-aged ales, Gose, Bière de Garde, Lambic, Gueuze, Flanders, Old Ale
- Lactobacillus
นิยมใช้กับเบียร์ประเภท Berliner weisse, Flanders beers, saison
- Pediococcus
นิยมใช้กับเบียร์ประเภท lambic and gueuze
- Acetobactor
นิยมใช้กับเบียร์ประเภท lambic, Flanders red, and wood-aged beers
โดยเรามักนิยมเรียกยีสต์ในกลุ่มนี้ว่า “Wild Yeast” หรือยีสต์ที่อยู่ในธรรมชาติ โดยในขั้นตอนการผลิต หลังจากทำการต้มมอลต์จนได้ Wort และเติมฮอปส์เรียบร้อย (นิยมใช้ฮอปส์เก่าเพราะไม่ต้องการกลิ่นที่โดดเด่น ต้องการเพียงรสขมอ่อนๆเท่านั้น) หลังจากนั้น Wort จะถูกส่งเข้าสู่ถาดเหล็กขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 4x4 เมตร และลึกประมาณ 30-40cm แล้วปล่อยให้เย็นเองโดยธรรมชาติซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ผลิตจะเปิดให้อากาศจากภายนอกถ่ายเทเข้ามา เพื่อให้ยีสต์ที่อยู่ในอากาศเข้ามาทำปฏิกริยากับ Wort โดยในขั้นตอนนี้เป็นเหมือนการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นจำเป็นต้องนำเอา Wort ที่ติดเชื้อจากยีสต์ไปเก็บต่อในถังไม้อีกอย่างน้อย 1 ปี ย้ำว่าอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ยีสต์ค่อยๆ พัฒนาตัวเองและรสชาติของเบียร์ แต่เนื่องจากยีสต์ที่ใช้ไม่ได้เป็นยีสต์ที่ถูกคัดสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ดังนั้นรสชาติของเบียร์ในแต่ละรอบการผลิตนั้นยากเกินจะคาดเดา นั้นทำให้หากเบียร์ในรอบการผลิตไหนรสชาติออกมายอดเยี่ยมแล้วหละก็ ราคาค่าตัวก็จะพุ่งขึ้นสูงเป็นเงาตามตัวเช่นกัน
ประเภทของเบียร์ Lambic
- Lambic (unblended)
คือเบียร์ตรงออกจากถังหมัก แบบไม่มีการผสมใดๆทั้งสิ้น เรียกว่ารสชาติเป็นแบบถังต่อถังกันเลยทีเดียว ถังไหนเปรี้ยวมาก เปรี้ยวน้อย ก็กินกันแบบตรงไปตรงมา (ซึ่งส่วนใหญ่จะเปรี้ยวมาก คล้ายน้ำส้มสายชู) ซึ่งแบบนี้จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก เพราะส่วนใหญ่รสชาติจะเกินคาดเดา
- Gueuze
คือเบียร์ที่มีการผสมกันระหว่างเบียร์ใหม่ (อายุประมาณ 1 ปี) และเบียร์เก่า (อายุประมาณ 2-3 ปี) เพื่อความลงตัวของรสชาติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับฝืมือของคนผสมด้วยกว่าจะใช้สัดส่วนเท่าไหร่ในการผสม แต่เบียร์ประเภทนี้จะมีรสชาติที่ดื่มง่ายกว่าประเภทแรก แต่ก็ยังคงรสชาติที่เปรี้ยวนำเช่นกัน
- Faro
คือการนำเอา Gueuze ไปเพิ่มรสหวานของน้ำตาล เพื่อให้ดื่มง่ายขึ้น โดยน้ำตาลที่ใช้และสัดส่วนการผสมนั้นขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละโรงเบียร์
- Fruit Lambic
คือเบียร์ Lambic ที่มีการเพิ่มส่วนผสมของผลไม้เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติ ให้มีความซับซ้อนและน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยชื่อเรียกของแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทของผลไม้เช่น
- Kriek ผสมเชอรี่
- Framboise ผสมราสเบอร์รี่
- Pêche ผสมพีช
- Cassis ผสมแบลคเคอแรนท์
- Aardbei ผสมสตอเบอร์รี่
โดยรสชาติของเบียร์ประเภทนี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับรสชาติของผลไม้ตามฤดูกาลนั้นๆ ว่าจะเปรี้ยว หวาน แตกต่างกันไป ยังรวมไปถึงปริมาณของผลไม้ที่ถูกผสมลงไปอีกด้วย ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นสูตรลับของแต่ละโรงเบียร์ก็ว่าได้
ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาโรงเบียร์ที่เบียร์ Lambic ด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมนั้นเหลือน้อยลงมากเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างเช่น ความซับซ้อนในการผลิต, สภาวะเศรษฐกิจ, สภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมไปถึงความนิยมที่ตกลงอย่างมาก แต่ไม่น่าเชื่อว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเบียร์ Lambic กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ผลิตหน้าใหม่พยายามทำเบียร์ประเภทนี้ออกสู่ตลาดมากมาย หากเพื่อนๆ สนใจอยากลองลิ้มชิมรสชาติของเบียร์ Lambic เราแนะนำ Oude Beersel จากประเภทเบลเยียมที่ปัจจุบันที่ผู้นำเข้ามาแล้วในประเทศไทย แต่หากใครเดินทางไปที่เบลเยียมแล้วหละก็ต้องห้ามพลาดเบียร์ Lambic ขั้นเทพอย่าง Cantillion, Fantome และ 3 Fonteinen
No author
เชื้อที่บอกในข้อ 2 3 4 ไม่ใช่เชื้อยีสต์นะครับ เป็นแบคทรีเรีย