สดจากใจ! บทสัมภาษณ์เท่าพิภพ  ลิ้มจิตรกร

สดจากใจ! บทสัมภาษณ์เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

ถึงวันนี้ใครยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวงการคราฟต์เบียร์ไทยเราก็คงจะเชยตกขอบสุดๆ ไปเลย เพราะหนึ่งในข่าวคราวที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากบนสื่อในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ก็คือเรื่องราวของชายหนุ่มผู้หนึ่งที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากพยายามทำคราฟต์เบียร์ขึ้นมาจำหน่าย นายเท่าพิภพ หรือ “เท่า” นั่นเอง

วันนี้ Wishbeer ได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาโดยตรง ใครอยากรู้ว่าเขามีแนวคิดอย่างไรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและมองไปข้างหน้าแบบไหนอย่างไร เชิญตามมาเสพกันให้ไว!

“Bonsoir. Je m’appelle Taopiphop… Je suis un criminel.” เท่ากล่าวทักทายติดตลกเป็นภาษาฝรั่งเศสก่อนที่จะหัวเราะร่วนไปกับผู้บริหารหนุ่มไฟแรงของเรา คุณ Jerome นั่นเอง (ต่อไปนี้เราจะเรียกเขาว่า J)

 

J: สวัสดีครับ ขอบคุณที่มาในวันนี้ วันนี้เราต้องเรียกคุณว่าเน็ตไอดอลใช่ไหม?

เท่า: โอย! อย่าเลยครับ เดี๋ยวเขาถ่ายรูป (ขณะดื่มเบียร์) แล้วโดนฟ้องเลยครับ ผมคือเท่าคนเดิม เพิ่มเติมคือมีคดี (หัวเราะ)

J: วันนี้เห็นว่าไปหลายที่เลย?

เท่า: ใช่ครับ วันนี้เปิดบาร์ให้ช่อง 3 ช่อง 7 และวอยซ์ทีวี แล้วก็ไป ASTV ก่อนจะฝ่ารถติดมาที่นี่หลังจากนี้ก็อาจไป Mikkeller แวะหาเพื่อนๆ ก็เดินสายขอบคุณคนที่เป็นห่วงครับ ขอบคุณที่เชิญมาและขอบคุณที่ให้กำลังใจ

J: ขอบคุณที่มาครับ เราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและจะทำอะไรต่อไป?

เท่า: ก็คือโดนจับครับ เพราะว่าทำเบียร์ผิดกฎหมาย เรื่องราวจบไปตามศาลแล้วครับ โดนค่าปรับและรับโทษไปแล้ว แต่ก็อยากทำตาม passion ต่อ ซึ่งที่มีก็คือร้านเบียร์ ผมชอบทำเบียร์ ชอบกินเบียร์ ต่อไปก็จะหาทางออกนะครับ หนึ่งคือทำบาร์ สองคือทำเบียร์ตัวเอง โดยที่บาร์และเบียร์จะเป็นแบบ crowdfunding (ระดมทุนสาธารณะ) ครับ

ภาพจาก manageronline

 

J: แล้ว passion นี้ เกิดมาจากไหนตั้งแต่เมื่อไหร่?

เท่า: ตอนนั้นไปเที่ยวนิวยอร์กกับพี่ชาย แล้วก็เดินไปเจอลานกว้าง ไปดื่มเบียร์ เราก็แบบว่า เฮ้ย! นี่เบียร์อะไร มีเบียร์แบบนี้ด้วยเหรอ ซึ่งตอนหลังมารู้ว่ามันคือเบียร์ไอพีเอครับ จากนั้นก็ดื่มมาเรื่อยๆ ครับ แล้วก็เริ่มถลำลึกเข้าไป ประกอบกับเมื่อสัก 5 ปีก่อนกระแสคราฟต์เบียร์บ้านเรากำลังมาก็เลยได้ดื่มมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เบลเยียนเบียร์ มาจนถึงฮอปปี้เบียร์ต่างๆ นานา วนไปซาวเออร์เอล บลาๆๆ ครับ

J: คือกินได้หมด?

เท่า: ถ้าถามว่าชอบเบียร์อะไรที่สุด ก็เบียร์เปรี้ยวพวกแลมบิค ผมชอบ Cantillon ครับ

J: กลับมาเมืองไทยก็คิดจะทำเบียร์เองเลยเหรอครับ?

เท่า: ก็เริ่มกินมาก่อนครับ แล้วก็เพิ่งเริ่มทำเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะดื่มมาระยะหนึ่งแล้วรู้สึกว่าเบียร์มันทำเองได้นี่ เราลองเสิร์ชคำว่า Homebrew ในเว็บ Google แล้วมันก็ขึ้นมา ต่อมาก็เริ่มทำตาม Youtube มีการไปซื้อหม้อที่คล้ายๆ กับหม้อแกงเขียวหวานตามงานวัด ใบใหญ่ๆ นะครับ ก็ทำกับเพื่อนครั้งแรก

J: เป็นเบียร์สไตล์ไหนครับ?

เท่า: แบตช์แรกเป็น Honey Porter ครับ จำได้ว่าซื้อ Kit (ชุดอุปกรณ์) มาจากเมืองนอกก็ลองต้มดู ปรากฏว่าอร่อยเลย พออร่อยเราก็เริ่มลองใส่มังคุด เงาะ อะไรต่างๆ ไป สรุปว่ากินไม่ได้เลย แต่ก็ได้ลองครับ

J: แล้วตอนนี้ทำเบียร์สไตล์ไหนอยู่?

เท่า: หลักๆ ที่คนเคยได้กินก็เป็น Saison ครับ แต่จริงๆ แล้วก็เคยทำแทบทุกสไตล์ เพราะก่อนที่ผมจะทำแบบนี้ ผมทำเพื่อการทดลองครับ บางสไตล์ไม่มีในประเทศไทย เราก็ลองหาสูตรมาทำดูว่าเบียร์นี้จะเป็นยังไง ลองทำไปเรื่อยๆ ครับ เพราะแต่ละสไตล์จะมีเทคนิคต่างกัน มี Key Ingredient ต่างกัน

J: อะไรคือความยากของการทำเบียร์ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ?

เท่า: ก็เรื่องวัตถุดิบ กฎหมาย ภาครัฐ ครับ ก็ธรรมดานะ วันหนึ่ง Homebrewing อาจถูกกฎหมาย แต่วันนี้มันยังไม่ถูกมันก็เลยยาก คือการทำอะไรจากใต้ดินมันก็ยากกว่าเสมออยู่แล้วครับ จากที่รู้จักเพื่อนหลายๆ คน เขาก็งงเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่นี่ (ประเทศไทย)

J: ตอนนี้เห็นว่ามี Brewer หลายคนที่จะไปทำที่ต่างประเทศ ญี่ปุ่น ไต้หวัน กัมพูชา อะไรต่างๆ คิดว่ายังไงครับ ทำไมเขาถึงต้องทำขนาดนี้?

เท่า: ผมว่าจริงๆ Brewer ทุกคนก็อยากมีทางเลือกที่จะทำมาหาได้ของตัวเองนะครับ ที่ไปทำเมืองนอกก็เพราะจะได้ยึดกฎหมายของเมืองนอกใช้ครับ อย่างผมเดี๋ยวก็ไปครับ เพราะว่าตอนนี้กฎหมายคงไม่เปลี่ยนแปลงในเวลาอันใกล้ เราก็คงต้องจ่ายเงินให้ต่างชาติไปก่อน เราไม่พร้อมจะทำที่นี่ด้วยความไม่เอื้ออำนวยหลายอย่าง

J: คิดว่าในอนาคต จะมีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายไหมครับ?

เท่า: เป็นไปได้แน่นอนอยู่แล้วครับ มันคงจะเปลี่ยนอย่างที่ควรเป็น แต่ก็คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ครับ ถ้ามองเรื่องธุรกิจหรือ Microbrew ผมเฉยๆ นะ แต่ผมว่าคนเราควรจะเอ็นจอยกับ Hobby นี้ได้นะครับ ผมว่าการทำ Homebrewing ควรเป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี

J: ในเอเชียก็มีหลายประเทศที่ทำได้ใช่ไหมครับ?

เท่า: มีน้อยประเทศที่ทำไม่ได้ครับ (หัวเราะ)… ก็แปลกๆ

J: แล้วคิดยังไงกับเบียร์คนไทยที่นำเข้ามา?

เท่า: หลายๆ เจ้าก็ดีครับ เป็นความพยายามที่ดีและน่าส่งเสริม แต่ลองนึกดูนะครับว่าถ้าทำในประเทศได้ราคามันก็จะถูกลง ค่าขนส่งลดลง มันก็อาจเป็น benefit ต่อตัววงการเอง และเราจะสามารถพัฒนาเบียร์ให้สามารถเทียบเคียงต่างประเทศได้นะครับ

J: จะเป็นแบบ OTOP ใช่ไหม?

เท่า: ใช่ครับ คือมันเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างงานได้เยอะ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่แล้ว เช่นว่าคนจากประเทศคุณ J มา ก็จะแบบว่าอยากหา Local beer ดื่มใช่ไหมครับ ก็ธรรมดาเหมือนเราไปเที่ยวที่ไหนเราก็อยากกินของที่นั่น คนมาเมืองไทยคงไม่อยากกินแต่แฮมกับชีสล่ะครับ คงอยากกินอาหารไทยมากกว่า เพราะว่ามันทั้งถูกด้วยอร่อยด้วย ที่ไหนที่เป็นแหล่งทำก็อร่อยกว่า สดกว่า เรื่องนี้ก็น่าจะ benefit ด้วย

J: กลุ่ม Homebrew เกิดขึ้นประมาณ 3-4 ปีใช่ไหมครับ ตอนนี้มีอยู่กี่คนที่ทำกัน?

เท่า: ผมว่าก็มีเป็น 100 ครับ คนต้มเบียร์เป็นก็คงมี 500 คนแล้ว แต่คนที่ทำจริงจังและผมรู้ก็น่าจะเป็น 100 อยู่ครับ

J: คือเหมือนกับเป็น Movement ที่เกิดขึ้นจริงๆ เลย?

เท่า: ผมว่ามันเป็นการรวมกลุ่มกันของคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กันมากกว่า คือเบียร์มันไม่ได้ทำยากครับ ก็เลยมีเป็น 100 คนได้ ผมไม่มีรายชื่อนะครับ ไม่ต้องขอ (หัวเราะ) ผมยอมรับผิดแล้ว

J: สิ่งที่เกิดขึ้นกับเท่า จะสามารถช่วยคนอื่นหรือวงการได้ยังไงบ้าง?

เท่า: เรื่องช่วยคงช่วยใครไม่ได้ครับ เพราะช่วยตัวเองยังไม่ได้เลย จริงๆ ผมเสียใจที่โดนจับนะ ขอโทษเจ้าหน้าที่ด้วยที่ทำให้ยุ่งยาก แต่ก็ถือว่าดีที่ทำให้ทุกคนหันมามองว่าคราฟต์เบียร์คืออะไร ก็สร้าง Impact ให้กับสังคมครับ อย่างที่บอกว่ายอดเสิร์ชคำว่าคราฟต์เบียร์เพิ่มขึ้น ก็ดีครับ เพราะผมมองว่าคราฟต์เบียร์ไม่ใช่ตัวที่จะทำลายหรือทำให้คนดื่มเยอะขึ้นจนเมามาย ผมอยากให้คนดื่มอย่างรับผิดชอบมากขึ้น มี Literacy ในการดื่มมากขึ้นครับ ที่ทำเบียร์ก็แค่อยากให้คนได้สัมผัสทางเลือก แค่นั้นเอง

J: คือได้กินของที่มีคุณภาพหน่อยเหรอ?

เท่า: เอาเป็นว่ามีทางเลือกแล้วกันครับ ของทุกคนก็มีคุณภาพทั้งหมดนะ ชอบไม่ชอบก็แล้วแต่

J: ตอนนี้ก็เกิด Awareness เรื่องคราฟต์เบียร์ขึ้นมา?

เท่า: ใช่ครับ ก็เกิด Awareness และคำถามเรื่องกฎหมายตามมา

J: อยากให้แนะนำคราฟต์เบียร์ไทยที่ถูกกฎหมายครับ ที่เขานำเข้ากันมาจากเมืองนอก

เท่า: จริงๆ แล้ว กินได้ทุกยี่ห้อนะครับ

J: มีเข้ามากี่ยี่ห้อแล้วครับ?

เท่า: เกือบ 10 แล้วนะครับ ก็ลองหาชิมดูที่ Wishbeer ได้ครับ

J: ตอนนี้จากที่เคยทำผิดกฎหมาย มีความมั่นใจที่จะทำให้ถูกต้องหรือยัง

เท่า: ของผม เดี๋ยวจะมีทำให้ถูกกฎหมาย ก็จะไปที่ Stonehead ที่เกาะกงนะครับ น่าจะทำออกมาเร็วๆ นี้ ยังไงโปรดติดตามครับ ลองมา Crowdfunding กับผมได้ เพื่อจะได้ไปทำเบียร์ที่นู่น

J: ก็คือระดมทุนจากหลายๆ คน?

เท่า: ครับก็ช่วยๆ กัน ตอนนี้มีคนมาถามหาว่าอยากชิมมาก ผมบอกเลยว่าไม่มีแล้วครับ สรรพสามิตยึดไปหมดแล้ว ถ้าอยากชิมจริงๆ ก็ต้องรอโครงการ Crowdfunding นะครับ ผมต้องขอโทษที่ปฏิเสธนายทุนหลายคน เพราะผมอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องราวครั้งนี้ เราไปดูด้วยกันว่าเบียร์มันทำยังไง อยากให้เห็นคุณค่าของเบียร์ ไม่ใช่แค่กินแล้วใส่น้ำแข็ง คือทุกครั้งที่ผมเห็นคนใส่น้ำแข็งในเบียร์แล้วผมค่อนข้าง Hurt นะ อยากให้คนดูแลเบียร์ดีๆ บ้าง ไม่ใช่สักแต่กินแล้วใช้ประโยชน์จากความเมาเฉยๆ

ผู้ชมจากทางบ้าน 1: ระดมทุนทำเป็นบริษัทมหาชนและทำเบียร์สูตรของเรากันไหม?

เท่า: มันน่าจะทำไม่ได้นะครับ

J: ต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำใช่ไหม?

เท่า: เอ่อ คือมันเข้าตลาดหุ้นไม่ได้นะครับ แต่อันที่จริงก็อยากทำอะไรเล็กๆ ครับ ไม่อยากทำอะไรใหญ่โตหรอกครับ คือคนไทยชอบคิดว่าคนทำเบียร์รวย เพราะว่าคนทำเบียร์ที่มีอยู่ก่อนเขารวยไงครับ คนทำเบียร์ที่ประเทศคุณ J เขารวยทุกคนเลยไหมล่ะ ล้นฟ้าอะไรแบบนี้

J: ไม่เลย แน่นอนครับ

เท่า: แค่เริ่มต้นก็ยากแล้วครับ

J: ใช่ มันลงทุนเยอะครับ

ผู้ชมจากทางบ้าน 2: จะได้กินเบียร์เท่าเร็วๆ นี้ไหมครับ?

 เท่า: เบียร์ทำอย่างต่ำก็ 2 สัปดาห์ครับ จะไปทำสัปดาห์หน้า ตั้งเป้าว่าอยากทำให้เสร็จก่อน 20 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันเกิดผมเองครับ

J: จะนำเข้ามากี่แบบครับ?

เท่า: แบบเดียวแล้วกันครับ จะมีแบบขวดด้วย และแบบสดด้วย

J: สไตล์ไหน?

เท่า: Saison ครับตัวที่ชื่อ Hurtster ครับ เพราะยังไม่มีใครทำ ลองดูนะครับ เป็น Belgian-style Farmhouse Ale

ผู้ชมจากทางบ้าน 3: ราคาสำคัญเลยนะครับ

เท่า: คุณภาพสำคัญกว่าครับ

ผู้ชมจากทางบ้าน 4: รอซื้อครับ ต้องถูกกฎหมายสักวัน

เท่า: เดี๋ยวถูกแล้วครับ ก่อน 20 กุมภาพันธ์

J: จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยมันก็เกิดขึ้นที่อื่นด้วยนะ มันไม่ได้แปลกประหลาดเลย

เท่า: ใช่ครับ คือถ้าดูกระแสคราฟต์เบียร์ในเมืองนอก โดยเฉพาะอเมริกา มันเกิดมานานแล้วครับ ก่อนผมเกิดอีก น่าจะ 30 กว่าปีแล้ว แต่ประเทศไทยก็เพิ่งมาเกิด Awareness ได้สัปดาห์เดียวนี่เอง

J: แล้วคุณเท่าคิดว่าผู้คนต้องทำอะไรบ้างเพื่อช่วยในจุดนี้

เท่า: ก็สนับสนุนวงการคราฟต์เบียร์ไทยครับ ลองดื่มเบียร์คนไทยทำ ติดตามข่าวสาร มี Content ต่างๆ ก็ลองดู ถ้าใครชอบเบียร์จริงๆ ก็ไม่อยากให้มองเบียร์เป็นสิ่งตื้นเขิน อยากให้มองเป็น Art Form ชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งซึ่งจรรโลง ทุเลาความเจ็บปวด เพราะคราฟต์เบียร์มีความหลากหลายและสร้างสรรค์ ไม่อยากให้มองว่าเบียร์ก็เหมือนๆ กันหมด เป็นอะไรเมาๆ คือแค่เปลี่ยนทัศนคติครับ ลองทำความเข้าใจมัน ไม่ใช่แค่มาบอกว่า “Say No” ผมก็จะเป็นสื่อกลางผ่านเพจของผมครับ จะพยายามหา Content ดีๆ มาให้ทุกคนได้รู้เรื่องเบียร์มากขึ้น เกี่ยวกับว่าเบียร์ทำยังไง เบียร์สไตล์อะไรต่างๆ มาเจอกันได้ครับ จะพยายามมาทุกวันพุธแล้วกันที่เพจ Taopiphop Ale Project และอีกอันคือเพจ Taopiphop Bar Project ครับ เป็นเพจที่จะทำ Crowdfunding มีซื้อคูปอง 1000 บาท ในคูปองจะมีมูลค่าใช้ได้ 2000 บาท เป็นต้น

ผู้ชมจากทางบ้าน 5: จะนำเข้าเหรอครับ?

เท่า: นำเข้าครับ เพราะทำที่นี่ไม่ได้ และผมว่าถ้าผมต้องทำโรงเบียร์เอง ผมคงทำได้ไม่ดี ไม่มั่นใจครับ ผมเป็นคนทำเบียร์ไม่ได้เป็นนักธุรกิจอะไรขนาดนั้น

ผู้ชมจากทางบ้าน 6: นายเจ๋งมาก!

เท่า: ขอบคุณครับ

J: ทุกคนชมหมดเลยครับ (อ่านข้อความจากทางบ้านไปเรื่อยๆ) โอเค ถ้าไม่มีคำถามแล้วก็แค่นี้ก่อนนะครับ

เท่า: À bientôt. Merci beaucoup. Au revoir!

J: ขอบคุณที่มา Wishbeer ครับ

ภาพจาก posttoday

Watch the full video of the interview below.


3 comments

  • No author

    Hello! Very interesting blog. I have spent considerable time looking into a legal brewery. Aside from startup costs, which are quite high, there are sourcing issues with ingredients: Hop varieties, yeast strains, malted grains and high quality barley. The legal issues, can and should be presented to the proper authorities as a two-tiered process.

    The first problem that Tao point out is that there is no “Home Brew” law. After California fixed that issue in 1973 or 1974, they then tackled “micro-breweries”, thus a new industry was born. The home brewing law change was …late 70’s for microbreweries. The ’80 saw huge numbers of breweries opening.

    The second issue, as I see it, are the alcohol rules. I say rules, because there are more than one, which gives way to much frustration.
    Last time I read the rules, translated, there is one law that covers simply making alcohol for any purpose, with it’s own cost for registration…and then the “for consumption/for sale” whatever it is called tax based on a minimum of 2,000,000 liters of production. It was likely created for taxation on Leo/Singha/Chang type of operations.

    I would love to home brew or possibly open a small craft brewery…but likely brew something like 12,000 liters. There it is. The tax law should reflect brewing production only. This way you don’t over pay tax. The alcohol commission would audit your books…amount of grain purchased minus inventory…all ingredients. In my recollection, we had to upload some of that data monthly to the local authorities and semi-annually to the Federal government. Audits happened without notice from State or Fed level.

    Distribution is yet another whole can of worms!

    Tao, I have never made beer in 2 weeks…Usually about 4 or 5 for Pils/Lagers, 6 weeks for ales, Belgians? Lambic?

  • No author

    I feel sastified after reading that one.

  • No author

    You have shed a ray of sunnhise into the forum. Thanks!

Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.