เรื่องจริงเกี่ยวกับ“เบียร์ดำ”แบบสเตาท์

เรื่องจริงเกี่ยวกับ“เบียร์ดำ”แบบสเตาท์

เมื่อเอ่ยคำว่าเบียร์ดำ แต่ละคนก็จะมีภาพในใจที่แตกต่างกันไป สำหรับชาวคราฟต์เบียร์ทั้งหลายก็คงรู้จักคุ้นเคยกับ “เบียร์ดำ” กันมากพอตัวและคงมีเจ้าประจำในใจมากมายหลายอย่างหลากสไตล์ชนิดที่นำมาสาธยายกันได้เป็นชั่วโมง ส่วนคอเบียร์นอกที่ตระเวนไปตามผับไอริชอยู่บ่อยๆ ก็อาจเห็นเป็นภาพเบียร์สเตาท์ยี่ห้อกินเนส(Guinness)สีดำสนิทที่ตัดกันกับโฟมฟองเนียนกริบขึ้นมาในใจทันที แต่ถ้าเป็นนักดื่มรุ่นโบราณที่ดื่มเป็นครั้งคราวสักหน่อยก็คงย้อนไปนึกถึงเบียร์แบลคไทเกอร์ ไม่ก็เบียร์คอหมาสเตาท์ และเบียร์ดำอมฤตอันโด่งดังในยุค 90 โน่นเลย

สเตาท์

ภาพจาก : vinepair.com

 

ไม่ว่าภาพเบียร์ดำในใจของแต่ละคนจะหน้าตาแบบไหน เราขอย้ำไว้เป็นอย่างแรกเลยว่าเบียร์ดำไม่ได้มีแค่แบบสเตาท์ (Stout) เท่านั้นนะ! เบียร์แบบลาเกอร์ (Lager) ที่เราเจอกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็มีเวอร์ชั่นสีเข้มๆ ดำๆ กับเขาได้เหมือนกัน เพราะประเด็นคือการใช้มอลต์และเมล็ดธัญพืชแบบต่างๆ (เช่น บาร์เลย์) ที่คั่วเข้มไปจนถึงเข้มจัดมาแต่งแต้มในสูตรเบียร์ไงล่ะ ซึ่งแต่ละตำรับก็มีชื่อเสียงเรียงนามแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องความเข้าใจผิดๆ ที่ได้ยินบ่อยเหลือเกินเกี่ยวกับเบียร์ดำแบบสเตาท์เท่านั้นเพราะเราคิดว่าน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะใช้มันเป็นจุดอ้างอิง มันชัดเจน พบได้บ่อย และดังนั้นเองจึงถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ ส่วนเบียร์สีดำๆ แบบอื่นที่พูดถึงนั้น ไว้คราวหลังจะมาเล่าให้ฟังอีกที

เอาล่ะ! ถ้าจบตอนนี้แล้วขืนคุณยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องเดิมอยู่อีก แค่คำว่า “เชย” ก็อาจจะเชยเกินไป

เรื่องจริงประการที่ 1 : สเตาท์ไม่ได้ดำมาตั้งแต่เกิด

ในยุคแรก การใช้คำว่าสเตาท์เรียกเบียร์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เป็นไปเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นเบียร์ตัวแรงเท่านั้น ดังนั้นในช่วงศตวรรษที่ 18 เราจึงพบว่ามีการค้าขายสเตาท์สีน้ำตาล (Brown Stout) และสเตาท์สีจาง (Pale Stout) กันอยู่เลย แต่คำๆ นี้ก็ได้ก้าวเข้าสู่ด้านมืดอย่างเต็มตัวเมื่ออุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ในสหราชอาณาจักรได้หันมานิยมทำเบียร์เลียนแบบเบียร์ผสมที่กำลังได้รับความนิยมตามผับบาร์ในลอนดอน ซึ่งเรียกกันว่า พอร์เตอร์ (Porter) จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “พอร์เตอร์สเตาท์”  ซึ่งขยายตลาดออกไปมากขึ้น และในเวลาต่อมาผู้คนก็พากันกร่อนคำให้สั้นลง เหลือเพียงคำว่าสเตาท์เท่านั้น

 

เรื่องจริงประการที่ 2 : สเตาท์ไม่ใช่เบียร์ที่แรงแซงหน้าใครต่อใครเพียงเพราะเป็นสีดำ

ในหลายๆ สังคมของมนุษย์ สีดำสื่อถึงความดุดันแข็งแกร่ง และของกินหลายอย่างที่สีคล้ำหรือดำก็มักจะมีรสเข้มข้นและออกขม นั่นทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าเบียร์แบบสเตาท์จะต้องมีดีกรีหนักหน่วงแน่นอน อันที่จริงเรื่องสีและความแรงของแอลกอฮอล์ในเบียร์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกันมากนัก คุณลองดูตัวอย่างเช่นเบียร์แบบไวเซ่นของไวเฮนชเตฟานเนอร์ (Weihenstephaner) ดูก็ได้ว่า เบียร์สีนวลอ่อนแบบนั้น มีดีกรีอยู่ที่ 5.4% ABV ในขณะที่ดีกรีของเบียร์สีดำทึบยี่ห้อดังอย่างกินเนส กลับวิ่งลงมาที่ 4.2% ABV เท่านั้นเอง (และนั่นแปลว่าทั้งคู่ก็เบากว่าเบียร์ช้างสีอำพันใสๆ เสียอีก)

 

ภาพจาก : brewbrothers.biz

 

เรื่องจริงประการที่3 : สเตาท์ไม่ใช่เบียร์แคลอรีสูง

จริงอยู่ว่าต้นกำเนิดของสเตาท์ซึ่งมีที่มาจาก พอร์เตอร์ หรือเบียร์สำหรับลูกหาบที่ท่าเรือ (Porter) นั้นจะทำให้หลายๆ คนติดภาพว่ามันเป็นเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ให้พลังงานสูง โดยเป็นความจริงที่ว่าในยุคแรกๆ นั้น สเตาท์มีปริมาณน้ำตาลในเบียร์มากเพื่อคืนแรงให้กับผู้ดื่ม สิ่งนี้เป็นจุดขายที่โดดเด่นและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จนกระทั่งนำมาสู่การคิดค้นและพัฒนาสเตาท์แบบอื่นๆ ขึ้น เช่น สเตาท์หวาน สเตาท์นม และโอ๊ตมีลสเตาท์ ซึ่งต่างก็ให้ความรู้สึกราวกับว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เปี่ยมด้วยวิตามินและแร่ธาตุทั้งสิ้น แต่พวกเราควรทราบว่าสเตาท์ในปัจจุบันไม่ได้เหมือนกันไปทั้งหมด และไม่ใช่ทุกยี่ห้อที่ต้องการนำเสนอว่าสเตาท์ของตนมีคุณค่าทางอาหารมากมายในลักษณะนั้นอีกแล้ว ดังนั้นคุณอาจพบเจอกับสเตาท์ที่ให้พลังงานแทบไม่ต่างไปจากไลท์เบียร์ และสเตาท์แบบที่ดื่มแล้วอิ่มไปทั้งมื้อ ซึ่งคุณต้องสอดส่องดูเป็นรายยี่ห้อไป

เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และไม่ลืมสิ่งที่เราเล่ามาจนถึงตอนนี้ เย็นย่ำค่ำนี้คุณลองไปที่บาร์และสั่งสเตาท์เย็นๆ มาลองดื่มสักแก้วสิ แต่หลังจากนั้นจะสองแก้ว หรือสามแก้วก็จัดไป :)

 

https://www.wishbeer.com/th/518-stout

 

 

 


Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.