เบียร์ประเภท IPA ที่วันนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เบียร์ประเภท IPA ที่วันนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เบียร์ประเภท IPA ที่วันนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ชั่วโมงนี้ใครไม่รู้จักมีเชย!

ภาพประกอบจาก straighttothepint.com
นักดื่มเบียร์ทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยที่หันมาสนใจในกระแสคราฟต์เบียร์ย่อมรู้จักคุ้นเคยเบียร์ชนิดนี้ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่พบเจออยู่บ่อยครั้งตามผับบาร์ก็คือ ความจริงที่ว่ามีผู้คนอีกมากมายเหลือเกินที่ไม่รู้จัก ไม่กล้าลองและไม่เข้าใจเบียร์แบบนี้ จนถึงขั้นอุทานว่า “มันคืออะไร (วะ) เนี่ย!?” ด้วยความตกใจในรสชาติอันเข้มข้นของเบียร์ชนิดนี้ เราจึงต้องมาพูดถึงเบียร์ IPA โดยสังเขปกันอีกสักครั้ง ไม่แน่ว่าที่คุณคิดว่ารู้และเข้าใจ มันอาจมีอะไรที่ต่างออกไปอีกนิดหน่อยก็ได้นะ สาวๆ หลายคน (อะแฮ่ม!) ถามว่าเบียร์อิป้า (IPA) ที่ดื่มคือเบียร์อะไร บางคนที่ศึกษามาทางด้านภาษาศาสตร์ก็อดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงเรื่องสัทอักษรสากล (International Phonetic Alphabet) ขึ้นมาโน่นเลย อันที่จริงเราควรเข้าใจให้ตรงกันเสียเดี๋ยวนี้เลยว่า

“IPA” หรือ “ไอพีเอ” ในที่นี้ มีที่มาจาก อินเดียเพลเอล (India Pale Ale) และไม่ใช่อินเดียนเพลเอล (Indian Pale Ale)

ภาพประกอบจาก blog.nassauinn.com
เอาล่ะ! จำง่ายๆ ว่านี่คือเบียร์แบบที่แรกเริ่มเดิมทีถูกตีตราส่งออกไปยังประเทศอินเดีย ไม่ใช่เบียร์แบบฉบับดั้งเดิมของชาวชมพูทวีป และแน่นอนว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชาวอเมริกันพื้นเมืองหรือที่คนไทยเรียกรวมๆ ว่าอินเดียนแดงเลยแม้แต่น้อย ไม่เลย! ในยุคแรกๆ เบียร์ชนิดนี้ถูกเรียกขานในหลายชื่อ เป็นต้นว่า pale ale as prepared for India, India ale, pale India ale และ pale export India ale ดังนั้นอย่างแรกที่เราต้องเข้าใจคือ ในสมัยแรกเริ่มนี่ก็คือ “เบียร์ตำรับส่งออก” นั่นเอง เบียร์ IPA ถูกผลิตขึ้นอย่างกว้างขวางในสหราชอาณาจักรระหว่างยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม โดยเริ่มต้นมาจากเทคโนโลยีใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในภาคพื้นทวีปยุโรปซึ่งทำให้นักต้มเบียร์สามารถผลิตเบียร์ที่มีสีอ่อนและมีกลิ่นรสจากการคั่วมอลต์ที่เบาบางลงได้ โดยเบียร์ชนิดนั้นเรียกกันว่าเพลเอล (Pale Ale) ซึ่งในเวลาต่อมาได้ต่อยอดไปเป็นเบียร์ประเภท October Beer ที่มีการใส่ดอกฮอปส์มากขึ้นและใช้การบ่มในถังอย่างยาวนาน การที่เบียร์แบบนี้ต้องอาศัยการเก็บบ่มนี่เอง ทำให้เบียร์ October จัดเป็นเบียร์เพลเอลชนิดส่งออกยุคแรกๆ ที่ไปได้สวยทีเดียวในแดนอาณานิคมหลักอย่างอินเดีย และในขณะเดียวกันแม้ในหมู่ชนชั้นศักดินาอังกฤษเองก็ชื่นชอบและนิยมต้มเก็บไว้ดื่มกันทุกปี ในช่วงเวลาแห่งการแข่งขันของบริษัทเบียร์ต่างๆ ที่ต้องการผลิตสินค้าของตนส่งออกไปขายยังทั่วโลก การเจริญเติบโตของเบียร์ IPA ก็เร่งเร้าขึ้นมาก การกีดกันทางการค้าในบางตลาดและการแข่งขันในอีกบางตลาดซึ่งก่อให้เกิดการมองหาช่องทางใหม่ๆ การแลกเปลี่ยนแนวคิด การเลียนแบบเทคนิค และการปรับปรุงพัฒนารสชาตินั้น ส่งผลโดยรวมให้แนวทางของเบียร์ชนิดนี้ค่อยๆ ตอบโจทย์นักดื่มมากขึ้นด้วย และความนิยมเบียร์ที่ “hoppy” มากกว่าเบียร์แบบเดิมๆ ก็เริ่มขยายตัวตามไปทีละนิด
ภาพประกอบจาก zythophile.co.uk
เมื่อถามว่า “ทำไมจึงต้องใส่ฮอปส์มากมายในเบียร์ส่งออกชนิดนี้?” นอกจากกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว คำตอบก็อยู่ที่คุณสมบัติในการฆ่าเชื้อและรักษาสภาพอาหารของสารที่อยู่ในดอกฮอปส์นั่นเองที่ช่วยให้เบียร์ยังคงมีสภาพที่ดีพอและดื่มได้หลังจากผ่านการเดินเรือที่กินระยะเวลายาวนาน ผ่านคลื่นลมและน้ำทะเลนับไม่ถ้วนไปจนถึงประเทศอาณานิคมต่างๆ ที่เป็นตลาดปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (เบียร์ IPA ที่ส่งออกไปยังสองประเทศหลังนี้มักเรียกเพียงว่า Export Pale หรือไม่ก็แค่ Pale Ale เท่านั้น)
ภาพประกอบจาก blog.quartoknows.com
ภาพประกอบจาก beerdrinkerssociety.com

1 comment

  • No author

    So much info in so few words. Tosolty could learn a lot.

Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.