ฮอปส์เหมือนกันแต่ต่างกัน?

ฮอปส์เหมือนกันแต่ต่างกัน?

 

ภาพจาก garden.lovetoknow

 

คอเบียร์โดยเฉพาะคราฟต์เบียร์แทบทุกคนย่อมรู้จักกันดีว่าดอกฮอปส์คืออะไร ที่ผ่านมาพวกเราต่างเชยชมความงามของกลิ่นดอกฮอปส์แต่ละสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไปอย่างมีเอกลักษณ์ มีบางคนที่ฝึกฝนประสาทการรับรู้และศึกษาหาข้อมูลจนถึงจุดที่สามารถแยกได้ว่าเบียร์ตำรับหนึ่งๆ นั้นถูกปรุงขึ้นจากสายพันธุ์แคสเคด ซิมโค โมเสค นักเก็ต หรืออื่นๆ จากการชิมเพียงไม่กี่จิบ ซึ่งนั่นทำให้เราอดนึกถึงทักษะของนักชิมไวน์ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้เลย(อาจรวมไปถึงชาและกาแฟด้วย)พวกเขาเป็นมนุษย์ที่จิบไวน์เพียงไม่กี่คำก็มองได้อย่างทะลุปรุโปร่งไปถึงแหล่งกำเนิดและสายพันธุ์ขององุ่นที่ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักของไวน์ในแก้ว และที่เป็นเช่นนี้ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งก็อาจเป็นเพราะองค์ความรู้ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานของการดื่มชิมไวน์ ในขณะที่เรื่องการชิมเบียร์นั้นยังเป็นพื้นที่ซึ่งเพิ่งได้รับความสนใจอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง

 

ภาพจาก growlermag

 

ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆ ขององุ่นที่มีผลต่อการทำไวน์นั้น แนวทางการวิเคราะห์ที่สำคัญอย่างหนึ่งให้น้ำหนักไปที่เรื่องของ “แตร์ฮวาร์” หรือ terroir ซึ่งในบริบททั่วไปนั้นแปลว่า ดิน หรือ แผ่นดิน แต่ในการทำไวน์ เราจะเข้าใจกันว่าหมายรวมถึงภูมิอากาศย่อยๆ หรือ“ดินฟ้าอากาศ” ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความเฉพาะตัวในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเนื้อดินทั้งผิวดินและใต้ดิน แร่ธาตุ ปริมาณแสงแดดและน้ำฝน (รวมถึงหิมะ น้ำค้าง และลูกเห็บ) ทิศทางและแรงลม และอื่นๆ ซึ่งรวมแล้วก็คล้ายกับว่าเป็นการมองหาฮวงจุ้ยที่เหมาะสมนั่นเอง

ภาพจาก westword

 

ในวงการคราฟต์เบียร์ร่วมสมัย เรื่องของ terroir ยังไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงกันอย่างลึกซึ้งมากนัก เราเพียงแต่ระบุกันว่าเป็นดอกฮอปส์สายพันธุ์อะไรและอย่างดีก็เก็บเกี่ยวในช่วงใดของปี หรือมีค่าความเป็นกรดกี่มากน้อย แต่เมื่อคราฟต์เบียร์ได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ขยายวงออกไปทั่วโลก การเพาะปลูกฮอปส์ก็ผุดขึ้นทั่วทุกแห่งหน รวมทั้งในประเทศไทยด้วยเรื่องราวความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ที่จะส่งผลต่อคุณสมบัติของผลผลิตดอกฮอปส์แต่ละสายพันธุ์จึงเกิดได้รับความสนใจมากขึ้น

 

ภาพจาก devafarmcafe

 

ปัจจุบันมีการจัดงานชิมเบียร์ที่มุ่งความสนใจไปที่เรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะเช่น ที่ร้าน Federalist Public House ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาในงานนี้นักชิมจะได้รับเบียร์ทั้งหมด4 ชุด ซึ่งทำขึ้นมาด้วยสูตรและขั้นตอนการผลิตที่เหมือนกันทุกประการรวมทั้งสายพันธุ์ของดอกฮอปส์ซึ่งใช้พันธุ์แคสเคดด้วย ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวในเบียร์เหล่านั้นก็คือแหล่งเพาะปลูกของดอกฮอปส์แคสเคดพวกนั้นนั่นเอง และรสชาติของเบียร์ที่ออกมาต่างกันอย่างมากจนราวกับว่าเป็นเบียร์คนละสูตรก็ทำให้นักชิมตะลึงได้เสมอทุกครั้งที่จัดงาน และก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีกเมื่อผู้จัดได้เผยในตอนท้ายว่าฟาร์มฮอปส์เหล่านี้ตั้งอยู่ในละแวกที่ห่างกันไม่ถึง200 กิโลเมตรด้วยซ้ำ!

 

ภาพจาก draftmag

 

จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามชมอย่างยิ่งว่าดอกฮอปส์ที่กำลังเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในบ้านเรา จะทำให้เกิด Hops Farm ขึ้นมาอีกกี่แห่ง และดอกฮอปส์ที่มีกลิ่นรสจากจิตวิญญาณท้องถิ่นแต่ละแห่งจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เราว่าในอนาคตวงการทำคราฟต์เบียร์ไทยคงสนุกคึกคักกันไม่รู้จบเลยล่ะ

 

 


1 comment

  • No author

    The paragon of unnsnetaddirg these issues is right here!

Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.