ใจคอไม่ดี! ภาษีเหล้า-เบียร์อัตราใหม่สูงเสียดฟ้า

ใจคอไม่ดี! ภาษีเหล้า-เบียร์อัตราใหม่สูงเสียดฟ้า

ภาพจาก indianaontap

อีกหนึ่งข่าวที่เรียกเสียงฮือหนัก ๆ จากพวกเรานักดื่มแดนไทยในระหว่างช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ การปรับพิกัดอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบต่างๆ ของกรมสรรพสามิต ที่จะเป็นหนึ่งในบรรดากฎหมายลูกซึ่งน่าจะถูกเข็นออกมารัว ๆ เนื่องจากว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีตามร่าง พ.ร.บ. ประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตจะมีผลบังคับใช้ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

หนึ่งในสิ่งใหม่จากประมวลกฎหมายฉบับนี้ที่มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวเราก็คือ การเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีโดยเปลี่ยนฐานภาษีจาก “ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย” ไปเป็น “ราคาขายปลีกแนะนำ” โดยการขยับโครงสร้างเช่นนี้ก่อให้เกิดผลที่ตามมาอย่างชัดเจนคือ ฐานภาษีที่ใช้คำนวณภาษีตามมูลค่าของเครื่องดื่มสุดที่รักจะสูงขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งนั่นสื่อความหมายต่อนักดื่มบ้านๆ แบบเราแทบจะทันทีว่าเหล้าเบียร์มีแนวโน้มจะแพงกว่าเดิม (ขนาดยังไม่คิดรวม VAT นะเนี่ย)

แล้วพิกัดอัตราใหม่ล่ะเป็นอย่างไร? เราได้ลองดูในรายละเอียดแล้วพบว่า เมื่อแนวทางที่นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิตได้ลั่นวาจาเอาไว้ว่า “หัวใจของภาษีสรรพสามิตใหม่ คือ เพื่อความเป็นธรรม โปร่งใส ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน…” ได้มาหลอมรวมเข้ากับ “ความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน” ที่เป็นอีกหนึ่งในหลักการของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมามีหน้าตาดังปรากฏในข่าวคราวนั่นเอง คือเป็นอัตราที่คำนวณแบบผสมผสาน โดยคิดจากอัตราตามมูลค่า (ซึ่งเขาบอกว่าจะปรับลดลงเพื่อให้สอดรับกับฐานภาษีที่สูงขึ้น) บวกอัตราตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์(ซึ่งจะปรับเพดานสูงขึ้น) 

ภาพจาก acnews

“สูตรเด็ด” ที่ฟังดูแล้วมีหลักการชวนอบอุ่นใจสูตรนี้ (...นั่นแหละ) ทำให้เราพออนุมานได้ต่อไปอีกว่าสิ่งที่ภาครัฐกำลังทำจะส่งผลให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “ยิ่งแรง ก็อาจจะยิ่งแพงมากขึ้น” แม้ว่าวิธีใหม่นี้จะระบุว่าไม่มีการเก็บภาษีตามปริมาตรและขนาดดีกรีที่เกินกว่ากำหนดแล้วก็ตาม

 

ขยับภาษี 50-150

ภาพจาก parkstreetimports

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจรายงานสรุปตัวเลขต่างๆ โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลในกรมสรรพสามิตไว้ดังนี้

“โครงสร้างภาษีใหม่ เบียร์และไวน์ จะมีการปรับอัตราภาษีตามปริมาณ (ดีกรีแอลกอฮอล์) จะปรับเพิ่มขึ้นจาก 300 และ 2,000 บาทเป็น 3,000 บาท เพิ่มขึ้น 0.5 เท่า และปรับอัตราภาษีตามมูลค่าลดลงจาก 60% และ 50% เหลือ 30% ส่วนเพดานอัตราภาษีตามปริมาณของสุรา ปรับเพิ่มจาก 400 บาท เป็น 1,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า... ส่วนอัตราภาษีตามมูลค่า 30% ลดลงจาก 50%”

ภาพจาก childrensaidsociety

ในกรณีนี้แม้ว่าเราไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป เนื่องจากในสภาพการณ์จริงนั้น ภาครัฐมีเงื่อนไขปัจจัยหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถดีดอัตราภาษีจนชนเพดานที่ตั้งเอาไว้ได้ในเวลาอันสั้นอยู่แล้ว (และก็ไม่น่าใช่ความมุ่งหมายหลัก) ที่สำคัญยังมีเรื่องที่ทำให้พอใจชื้นอยู่ได้บ้างว่าคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งท้ายร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อครั้งที่กรมสรรพสามิตเสนอไปด้วยโดยกำชับว่า “ภาษีใหม่ต้องไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค” แต่จากข้อมูลที่แสดงออกมาแล้วนั้น เราก็พอพูดได้เช่นกันว่าโครงสร้างภาษีที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นี้จะ “เปิดโอกาส” ให้ราคาของสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยับสูงขึ้นได้อย่างน่าตกใจจริงๆ ดังภาพชวนขนลุกที่นักดื่มพากันแชร์กันไปทั่วโลกโซเชียล

ผ่าง!

ภาพจาก thansettakij

ทำไปเพื่อ?

หลายคนคงตั้งคำถามว่าสาเหตุของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้คืออะไร? ภาครัฐต้องการเห็นอะไรบรรลุผลที่ปลายทางเส้นนี้? สำหรับประเด็นนี้ แม้ว่าอธิบดีกรมสรรพสามิตจะได้ออกตัวมาแล้วอย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีข่าวว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้มีความมุ่งหมายให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น (ซึ่งเราก็ทำได้เพียงสงสัยอยู่ในใจว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้จริงแท้มากน้อยแค่ไหนในสังคมแบบไทย ๆที่เราก็พอรู้กันอยู่ว่าใครเป็นใคร) แต่ก็ยังมีเสียงอื่นที่ลอยลมมาให้เหตุผลสนับสนุนหลายประการที่ต่างออกไปอีก เป็นต้นว่าเรื่องสุขภาพและศีลธรรมอันดีต่าง ๆ นานา

เมื่อได้ยินเช่นนี้ เราในฐานะนักดื่มบ้านๆ ก็ยิ่งคาใจมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหลังจากที่ได้พิจารณาผลลัพธ์จากการขึ้น “ภาษีบาป” ที่ว่าด้วยบุหรี่เมื่อประมาณปีก่อน ที่ “เขาทั้งหลาย” ว่ากันว่าจะช่วยให้ผู้คนสูบบุหรี่น้อยลงอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องนี้ในความเป็นจริงแล้วผลออกมาเป็นอย่างไรบ้างก็คงต้องพิสูจน์ทราบกันต่อไป อย่างไรก็ดี ตอนนี้เรามีผลสำรวจจากกรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่สูบบุหรี่เกือบร้อยละ 70 ยังคงสูบบุหรี่เหมือนเคยในปริมาณเท่าเดิมและกว่าครึ่งก็ไม่ได้คิดจะเลิกสูบอีกด้วย ราวกับว่าการขึ้นภาษีครั้งนั้นมีผลเพียงแค่ทำให้รายจ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ที่สูบบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้นเอง (ซึ่งเราก็คงทราบกันดีว่านั่นไม่ได้สอดคล้องกับรายได้และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบันนัก) จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ว่าเพราะอะไรการปรับขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ครั้งนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยถึงมีความรู้สึกเชิงลบไปในทำนองที่ว่าภาครัฐเพียงแค่กำลังพยายามดิ้นรนขยายช่องทางหารายได้เข้ากระเป๋า โดยเฉพาะในช่วงที่มีข่าวคราวออกมาว่าอะไรหลายอย่างกำลังฝืดเคืองอย่างที่เป็นอยู่ แม้ว่าในประเด็นนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะส่งเสียงเจื้อยแจ้วเรื่อย ๆ ให้เราได้มั่นใจว่าเป็นการ “คิดมโนไปเอง” ก็ตาม

ภาพจาก bangkokpoll

จะทำไงได้ล่ะ... ตอนนี้ก็คงทำได้แค่ตุนของ เอ้ย! ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและช่วยกันภาวนาว่าท้ายที่สุดแล้วการบังคับใช้กฎหมายชุดนี้จะเป็นไปอย่างสอดคล้องกับสิ่งที่บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้กล่าวเอาไว้อย่างที่เราเล่าให้ฟังข้างต้นล่ะนะ

เอ้าJ เพื่อกันลืม... เราขอจารึกเอาไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่าเขาบอกไว้อย่างนี้ “ต้องไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ ไม่เพิ่มภาระให้ผู้บริโภค!” ท่องวนไปนะพ่อแม่พี่น้อง เรื่องนี้คงต้องลุ้นไปจิบไปกันยาวๆ


6 comments

  • No author

    Would be nice if you posted an English version too…. You keep sending me these articles in Thai, but my reading skills are not great, and prefer in English

Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.