เบียร์ช้าง - ไทยเบฟฯเลิกขายเบียร์ช้างเอ็กซ์พอร์ต มุ่งตลาดแมส-ดึง

เบียร์ช้าง - ไทยเบฟฯเลิกขายเบียร์ช้างเอ็กซ์พอร์ต มุ่งตลาดแมส-ดึง

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1438177627

ไทยเบฟฯจัดทัพเบียร์ระลอกใหม่ เตรียมเลิกขาย "ช้าง เอ็กซ์พอร์ต" หันโฟกัส "ช้าง คลาสสิค" หวังขยายฐานคอเบียร์ระดับเบียร์ช้างแมส ทยอยแจ้งยี่ปั๊วซาปั๊ว วงในชี้หวนดึง "เฟดเดอบรอย" กลับมาลุยเบียร์พรีเมี่ยมอีกรอบ

แหล่งข่าวจากวงการเหล้า-เบียร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าไทยเบฟฯได้แจ้งกับผู้แทนจำหน่ายประจำภูมิภาคต่าง ๆ ว่า บริษัทจะยกเลิกผลิตเบียร์ช้าง เอ็กซ์พอร์ต ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าเดิมที่เหลืออยู่ในสต๊อกจำนวนหนึ่ง และจากนี้ไปจะส่งให้เฉพาะร้านค้าที่เป็นโมเดิร์นเทรด คือ บิ๊กซี แม็คโคร เทสโก้ โลตัส เท่านั้น ส่วนช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรด และร้านค้าปลีกรายย่อยจะไม่ส่งสินค้าแล้ว ซึ่งตอนนี้บริษัทได้เริ่มเคลียร์สินค้าแล้ว คาดว่าสินค้าในสต๊อกดังกล่าวไม่ถึงสิ้นปีก็จะหมดแล้ว

"ไทยเบฟฯเตรียมที่จะเลิกทำตลาดช้าง เอ็กซ์พอร์ตนี้ เป็นที่รับรู้ในวงการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในแง่ของรายละเอียดนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งที่ผ่านมาไทยเบฟฯได้แจ้งให้ผู้แทนจำหน่ายได้ทราบเรื่องนี้แล้ว และทำให้ยี่ปั๊วซาปั๊วหลาย ๆ รายเริ่มระบายช้าง เอ็กซ์พอร์ต (ขวด) ที่มีอยู่ในสต๊อกออกไป" 

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าไทยเบฟฯอาจจะหันกลับมาทำตลาดเบียร์พรีเมี่ยมในขวดเขียวใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากก่อนหน้านี้ที่เคยทำตลาดเฟดเดอบรอย แต่มาระยะหลัง ๆ ได้หันมาเน้นการทำตลาดในลักษณะที่เป็นนิชมาร์เก็ตมากขึ้น และปัจจุบันวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายค่าย อาทิ โฮมเฟรชมาร์ท ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

เบียร์ช้าง

ประเด็นดังกล่าว แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเบียร์ช้าง ได้ตอบข้อสอบถาม "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาการทำตลาดของเบียร์ช้างใหม่ โดยแนวทางหนึ่งที่วางไว้คือ การอาจจะยกเลิกการทำตลาดช้าง เอ็กซ์พอร์ต และจะหันไปโฟกัสกับสินค้าหลัก ช้างคลาสสิค ที่สร้างรายได้หลักให้กับธุรกิจเบียร์ของบริษัท นอกจากนี้ อาจมีการปรับลดดีกรีใหม่ให้อ่อนลง เพื่อขยายฐานจับกลุ่มลูกค้าที่กว้าง เพราะปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่นิยมดื่มเบียร์ที่ดีกรีไม่เข้มข้นมากนัก ในขณะที่ตลาดเบียร์ดีกรีเข้มข้นมีสัดส่วนที่เล็กกว่ามาก

สอดคล้องกับแหล่งข่าวในวงการเครื่องดื่ม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันเบียร์ช้างที่ทำตลาดอยู่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งช้าง คลาสสิค, ช้าง ไลท์, ช้าง ดราฟท์, ช้าง เอ็กซ์พอร์ต, เบียร์ อาชา และเฟดเดอบรอย ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีขวดใหญ่ ขวดเล็ก กระป๋อง จึงทำให้มีความซ้ำซ้อนกันมาก โดยเฉพาะในแง่ของราคาที่แทบจะไม่ต่างกัน โดยช้าง คลาสสิค ช้าง ไลท์ ช้าง ดราฟท์ ชนิดขวดใหญ่ ราคา 53 บาท ขวดเล็กและกระป๋อง 33 บาท ขณะที่ช้าง เอ็กซ์พอร์ต ขวดใหญ่ 54 บาท ขวดเล็กหรือกระป๋อง 34 บาท จึงมีนโยบายจะลดจำนวนเอสเคยูที่มีอยู่ลง เพื่อลดความซ้ำซ้อน การปรับยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าวจะเริ่มภายในก่อนสิ้นปีที่จะเป็นหน้าขายสำคัญของตลาดเบียร์

"ที่ผ่านมาแม้ว่าช้าง เอ็กซ์พอร์ตจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายที่ดี แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้วอาจจะยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังไม่สามารถสร้างกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการใช้ส่วนผสมของมอลต์ 100% ก็ทำให้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเบียร์ช้าง เอ็กซ์พอร์ต เปิดตัวเมื่อปลายปี 2554 ชูจุดขายส่วนผสมมอลต์ 100% เป็นเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% พร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่ปรับให้มีความพรีเมี่ยมขึ้น และปูพรมวางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มียอดขายในปีแรกอยู่ที่ 15 ล้านลิตร เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับพอร์ตเบียร์ทั้งหมดของช้างที่มีปริมาณการขาย 585 ล้านลิตรในปีที่ผ่านมา 

ก่อนหน้านี้ไทยเบฟฯได้ประกาศวิสัยทัศน์ 2020 ที่ต้องการทวงคืนความเป็นผู้นำในตลาดเบียร์มูลค่าประมาณ 125,000-130,000 ล้านบาท กลับมาให้ได้ภายในปี 2563 ด้วยส่วนแบ่ง 45% จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งประมาณ 30% พร้อมกับเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเข้าซื้อกิจการเบียร์ เช่น ญี่ปุ่น หรือเยอรมนี เพื่อเสริมทัพตลาดเบียร์เซ็กเมนต์พรีเมี่ยมที่บริษัทยังขาดอยู่

ปัจจุบันตลาดเบียร์มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 125,000-130,000 ล้านบาท ค่ายสิงห์หรือบุญรอดบริวเวอรี่ มีมาร์เก็ตแชร์ 72% ส่วนค่ายไทยเบฟฯหรือเบียร์ช้าง มีมาร์เก็ตแชร์ 24% และไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ หรือไฮเนเก้น ประมาณ 4% หากแบ่งเป็นเซ็กเมนต์ จะพบว่าเบียร์สแตนดาร์ดเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มูลค่า 110,000 ล้านบาท มีลีโอเป็นผู้นำตลาด ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 73% รองลงมาคือ ช้าง ประมาณ 27% ส่วนเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมมีมูลค่า 15,000 ล้านบาท มีสิงห์เป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่ง 56% ตามด้วยไฮเนเก้น 42% และเซ็กเมนต์อีโคโนมี มูลค่าตลาดรวมประมาณ 2,500 ล้านบาท มีอาชา (ไทยเบฟฯ) ครองตลาดเกือบ 100%


Leave a comment

x

STAY UP TO DATE

Submit your email to get updates on products and special promotions.