คืนนี้ดื่มเบียร์กับอะไรดี (ตอนที่ 2)
จากบทความที่แล้วเราได้มีการเกริ่นนำในเรื่องของการดื่มเบียร์คู่กับอาหาร โดยหากเราเลือกเบียร์ได้เหมาะกับอาหารจานนั้นๆ ก็จะช่วยทำให้อาหารอร่อยยิ่งขึ้น ในตอนที่ 2 นี้จะขอหยิบเอาส่วนนี้มาขยายพร้อมยกตัวอย่างการเลือกเบียร์คู่กับอาหารอีกสัก 3-4 สไตล์ การเลือกจับคู่เบียร์กับอาหารนั้น จะมีแนวคิดง่ายๆ อยู่ 2 แบบ ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเอาแนวคิดนี้ไปลองใช้ได้ครับ
- Harmony : คำนี้หากแปลตรงๆ ตัวคือ “ความสามัคคี” แต่ในกรณีของการจับคู่กับอาหาร เราขอใช้คำว่า “สอดคล้อง” กัน คือเมื่อเราทานอาหารจานนั้นคู่กับเบียร์ที่เราเลือกมาแล้ว กลิ่นและรสชาติของอาหารนั้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การทานไก่ย่างหรือหมูย่างกับ Amber ale หรือการทานพายเนื้อกับ Stout กลิ่นมอลต์คั่วของเบียร์จะไปในทิศทางเดียวกับกลิ่นย่างไฟของอาหาร ช่วยส่งเสริมให้จุดเด่นของอาหารจานนั้นเพิ่มมากขึ้น
- Contrast : คำนี้แปลตรงตัวว่า “ตรงกันข้าม” แต่ในกรณีนี้ผมขอใช้คำว่า “รสที่ตัดกัน” คือเบียร์ที่เราเลือกทานเพื่อช่วยลดจุดด้อยของอาหารจานนั้นๆ เช่น การเลือกทานเบียร์ Pilsner กับอาหารรสจัดอย่างอาหารไทย ความหวานอ่อนๆ ของเบียร์จะช่วยตัดรสเผ็ดได้ดี หรือ Witbier กับอาหารซีฟู้ด กลิ่นเปลือกส้มและเครื่องเทศของเบียร์จะช่วยลดกลิ่นคาวของอาหารทะเลได้ หรือการทานเบียร์ IPA กับอาหารที่มีความมันเลี่ยนอย่างปลาหรือไก่ทอด โดยรสขมและกลิ่นของฮอปส์ จะช่วยลดความมันเลี่ยนได้เป็นอย่างดี
โดยแนวคิดทั้งสองข้อที่กล่าวมานั้นบางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องยืดติดตายตัว เราอยากให้เพื่อนๆ ลองหาเมนูอาหารที่จับคู่กับเบียร์ที่ตัวเองชอบ จนเกิดเป็นเหมือนคู่ดูโอส่วนตัว ที่ไม่ว่าจะทานด้วยกันครั้งไหนก็อร่อยถูกใจเสมอ ส่วนสไตล์เบียร์กับการจับคู่อาหารในวันนี้ผมจะหยิบเอาเบียร์สไตล์ต่างๆ ของเยอรมันมาแนะนำกันบ้างครับ
Helles / Dortmunder
เบียร์สไตล์นี้ใช้ Lager Yeast ในการหมัก น้ำเบียร์จะเป็นสีเหลืองทอง ใส กลิ่นหอมของมอลต์คล้ายขนมปัง รสชาติที่ขมอ่อนๆ แต่ให้รสหวานติดลิ้น ด้วยลักษณะที่กล่าวมาทำให้คนมักเข้าใจว่าเป็นเบียร์สไตล์ Pilsner แต่จริงๆแล้ว Helles จะต่างจาก Pilsner ตรงที่มักมีระดับแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่าเล็กน้อย และกลิ่นของฮีอปจางกว่า เราอยากแนะนำให้ลองทานเบียร์ประเภทนี้กับอาหารจานเบาๆ อย่างสลัดผัก หรือจานปลาย่าง เพราะเบียร์สไตล์นี้มีรสอ่อน จะไม่กลบกลิ่นและรสของอาหารจนเสียอรรถรสไปเสียหมด
We recommend : Paulaner Munchner Helles
Dunkel Weizen
เบียร์สไตล์นี้แนวคิดจะคล้ายกับสไตล์ Weizen แต่จะเปลี่ยนมอลต์คั่วสีเข้มขึ้น ทำให้น้ำเบียร์ที่ได้มีสีเข้มขึ้น มีตะกอน ขุ่น กลิ่นยังคงมีความคล้ายกล้วยแต่เป็นเหมือนกล้วยอบ ที่มีกลิ่นไหม้อ่อนและรสหวานมากขึ้น โดยอาหารยอดฮิตที่ต้องทานกับเบียร์สไตล์นี้คือ ไส้กรอกหมูหรือเนื้อย่างไฟอ่อนๆ โดยจะทานเปล่าๆ หรือจับคู่กับขนมปังให้เป็นฮอทด็อกก็ได้ หรือจะหยิบเอาเบียร์ประเภทนี้มาทานกับไก่หรือขาหมูย่างสไตล์เยอรมันก็เข้ากันได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
Wishbeer recommends : Weihenstephaner Hefeweissbier Dunkel, Paulaner Hefeweissbier Dunkel, Hacklberg Dunkel Weizen
German Weizenbock
เบียร์สไตล์นี้เป็นการต่อยอดมาจาก German Weizen โดยสีจะมีความเข้มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในโทนเหลืองทอง ขุ่น กลิ่นหอมคล้ายกันแต่จะเด่นชัดมากกว่า เนื้อเบียร์มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยจะมีระดับแอลกอฮอล์ที่สูงมากกว่า (6.5-8.5%) ลองจับคู่เบียร์ตัวนี้กับอาหารที่มีความเข้มข้นของครีมหรือชีส เช่นพิซซ่า หรือพาสต้าครีมซอส เพราะรสหวานปนขมอ่อน จะช่วยทำให้อาหารประเภทครีมซอสหรือซีสที่มีรสเค็มเล็กน้อยสมดุลมากขึ้น หรือจะจับคู่กับอาหารซีฟู้ดได้เช่นกัน เพราะกลิ่นและรสเข้มๆ ของเบียร์จะช่วยลดกลิ่นและรสคาวได้เป็นอย่างดี
Bock / Doppelbock
เบียร์สีน้ำตาลเข้มอมแดง ที่หมักด้วย Lager Yeast ทำให้เน้นโชว์กลิ่นของมอลต์คั่ว และกลิ่นคล้ายกาแฟและช็อคโกแลต รสหวานนำตามด้วยขมคั่วปานกลาง อาจมีรสเปรี้ยวบ้างเล็กน้อย แต่มักปิดท้ายด้วยรสหวาน เราแนะนำให้ลองทานเบียร์เข้มๆ แบบนี้กับสตูว์เนื้อ หรือสเต็กเนื้อย่าง เพราะกลิ่นคั่วเข้มของมอลต์จะส่งให้กลิ่นของสตูว์หรือสเต็กหอมมากยิ่งขึ้น หรือจะลองทานกับช็อคโกแลตเค้กหรือบราวนี่ รสขมๆ ของเบียร์และกลิ่นช็อคโกแลตก็ไม่เลวเลยทีเดียว อย่าลืมว่าหากเพื่อนๆมีโอกาสลองจับคู่เบียร์กับอาหารจานไหนแล้วประทับใจ สามารถแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ให้กับเราได้ ยิ่งถ้าเป็นเบียร์ดีๆ กับอาหารไทยแล้วด้วยจะยิ่งชวนกันน้ำลายไหลยิ่งกว่าเดิมแน่นอน